ชื่อสมุนไพร : แสมสาร
ชื่อเรียกอื่นๆ : ขี้เหล็กสาร (นครราชสีมา, ปราจีนบุรี), ขี้เหล็กโคก, ขี้เล็กแพะ (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กป่า (ภาคเหนือ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กราบัด, กะบัด (ชาวบน-นครราชสีมา) และ ไงซาน (เขมร-สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna garrettiana (Craib) Irwin & Barneby
ชื่อสามัญ : Samae Saan
วงศ์ : LEGUMINOSAE (FABACEAE)
แสมสารเป็นพืชมีเนื้อไม้แข็งโดยขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัด ในประเทศไทยพบได้มาทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอื่นๆ ยกเว้นภาคใต้ โดยมักขึ้นในบริเวณป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าที่ราบต่ำทั่วไป และป่าผลัดใบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ในปัจจุบันนิยมนำต้นแสมสารมาปลูกเป็นไม้ประดับตามข้างทางเนื่องจาก มีทรงพุ่มเป็นเรือดยอดสวยงาม เมื่อยามออกดอกจะมีดอกขาวโพลนหนาแน่น ประโยชน์ทางด้านอาหารก็คือดอกอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ แต่ต้องนำมาต้มเพื่อลดความขมลงก่อนจะนำไปแกง คล้ายกับแกงขี้เหล็ก สำหรับสรรพคุณทางยาสามารถต้านโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งได้ เนื่องจากพบว่ามีสารในกลุ่มแอนทราควิโนนอยู่หลายชนิดได้แก่ Chrysophanol และ Cassialoin ซึ่งออกฤทธิ์ด้านฮีสตามีน ด้านการบีบตัวของลำไส้ เมื่อนำมาผสมในยาทำให้แท้ง ทำให้มดลูกคลายตัว และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง เป็นพิษต่อตัวอ่อน กระตุ้นมดลูก ต้านมะเร็ง รวมถึงมีฤทธิ์เหมือน Lectin ยับยั้งเอนไซม์ H+,H+-ATPase และ Lipoxygenase หยุดการขับน้ำย่อยได้อีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
แสมสารเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดย่อมถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 10เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบใบเป็นประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย 6-9 คู่ ลักษณะเป็นใบรูปหอกหรือรูปไข่ ความกว้าง 2-5 ซม. ความยาว 5-9 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลม ใบหนามีสีเขียวสด ผิวใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว 4-5 ซม. ดอกมีสีเหลืองออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ความยาวประมาณ 9-20 ซม. มีขนสีน้ำตาลเหลืองหนาแน่น ดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาว 3 ซม. ใบประดับรูปไข่ปลายแหลมร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอก 2 กลีบขนาดเล็กกว่า ยาวประมาณ 5 มม. ด้านใน 3 กลีบยาวกว่า กลีบดอกสีเหลืองรูปไข่กลับ ยาว 15-18 มม. เมื่อบานออกเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 ซม. มีก้านกลีบยาว 4 มม. เกสรตัวผู้ 10 อัน ผลมีสีน้ำตาล เป็นฝักรูปดาบ มักบิด แบน เกลี้ยงไม่มีขน ผนังบาง กว้าง 2-4 มม. ยาว 15-22 ซม. เมื่อแก่แตกได้ฝักหนึ่งมีเมล็ดประมาณ 20 เมล็ด ขนาดกว้าง 5 มม. ยาว 1 ซม. กระพี้สีขาวนวล
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ยอด, เปลือกต้น, แก่น และ ดอก
สรรพคุณทางยา :
- ราก ยาฟอกโลหิตช่วยบำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต
- ใบ บำบัดโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว ขับพยาธิ ยาถ่ายบำบัดโรคงูสวัดรักษาแผลสดและแผลแห้ง
- ยอด แก้โรคเบาหวาน
- เปลือกต้น ขับเสมหะแก้ริดสีดวงทวาร
- แก่น แก้โลหิต แก้ลมช่วยถ่ายกระษัยแก้โลหิตกำเดา ยาระบาย แก้ปัสสาวะเป็นสีต่างๆ ช่วยฟอกถ่ายประจำเดือนของสตรี แก้ลมในกระดูก
- ดอก แก้นอนไม่หลับ
วิธีการใช้ :
- ยาฟอกโลหิตช่วยบำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต นำรากมามาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- บำบัดโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว ขับพยาธิ ยาถ่าย นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- บำบัดโรคงูสวัดรักษาแผลสดและแผลแห้ง นำใบมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
- แก้โรคเบาหวาน นำยอดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ขับเสมหะแก้ริดสีดวงทวาร นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้โลหิต แก้ลมช่วยถ่ายกระษัยแก้โลหิตกำเดา ยาระบาย แก้ปัสสาวะเป็นสีต่างๆ ช่วยฟอกถ่ายประจำเดือนของสตรี แก้ลมในกระดูก นำแก่นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้นอนไม่หลับ นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
แสมสารเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
.