มะหวด


ชื่อสมุนไพร : มะหวด
ชื่อเรียกอื่นๆ : หวดฆ่า, หวดค่า (อุดรธานี), สีหวด (นครราชสีมา), สีฮอกน้อย, หวดลาว (ภาคเหนือ), มะหวดป่า, หวดคา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หวดเหล้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ,คนเมือง), กำซำ, กะซ่ำ, มะหวด (ภาคกลาง), ชันรู, มะหวดบาท, มะหวดลิง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กำจำ, นำซำ, มะจำ, หมากจำ (ภาคใต้), สีหวดใหญ่ (บางภาคเรียก), ซำ (ทั่วไป), สือเก่าก๊ะ, ยาตีนไก่ (ม้ง), เดี๋ยงอายเปียว (เมี่ยน) และ มะซ้าหวด (ไทลื้อ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes rubiginosa Leenh.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : SAPINDACEAE



MHD5

มะหวดจัดเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการทำกิ่งตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ชอบดินทุกชนิดที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ตามป่าผลัดใบ ริมลำธาร ชายป่าชื้น ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,200 เมตร เนื้อผลมะหวดฉ่ำน้ำ ผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยจะรับประทานเป็นผักสด ต้ม ลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ใส่ในแกงผักรวม ใส่ปลาย่าง ฯลฯ และชาวบ้านยังนำมาใช้รองพื้นหรือคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อช่วยกันบูดได้อีกด้วย

MHD1

ลักษณะสมุนไพร :
มะหวดจัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร และสูงได้ถึง 15 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งแขนงเป็นรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ที่กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีขนสั้นๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แก่นกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 3-6 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นลอย ส่วนใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตั้ง จากปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด มีความยาวถึง 50 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็กและมีกิล่นหอมอ่อนๆ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร มีกลีบดอก 4-5 กลีบ เกลี้ยงหรือมีขน กลีบดอกเป็นสีขาว ลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปรีเว้าเป็นพู ผิวผลเกลี้ยง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลมีพู 2 พู ผิวเกลี้ยงเปลือกและเนื้อบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำเมื่อแก่จัด

MHD2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล, เปลือกต้น, ราก, ใบ และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :

  1. ผล บำรุงกำลัง ช่วยแก้ท้องร่วง
  2. เปลือกต้น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ ช่วยสมานแผล
  3. ราก ยาแก้อาการปวดท้อง ยาขับพยาธิ ช่วยแก้พิษฝีภายใน รักษาโรคผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นคัน ช่วยแก้กระษัยเส้น
  4. ใบ ช่วยรักษาอาการไข้ ยาแก้ซาง
  5. เมล็ด ยาแก้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง บำรุงเส้นเอ็น

 MHD3

วิธีการใช้ :                                     

  1. ช่วยรักษาอาการไข้ ยาแก้ซาง นำใบมารับประทานสดๆ หรือนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. บำรุงกำลัง ช่วยแก้ท้องร่วง นำผลมารับประทานสดๆ
  3. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ ช่วยสมานแผล นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  4. ยาแก้อาการปวดท้อง ยาขับพยาธิ ช่วยแก้พิษฝีภายใน รักษาโรคผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นคัน ช่วยแก้กระษัยเส้น นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  5. ยาแก้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง บำรุงเส้นเอ็น นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

 MHD4

ถิ่นกำเนิด :
มะหวดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 





.