บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ลำต้นปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยา

ว่านหางช้าง


ชื่อสมุนไพร : ว่านหางช้าง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ว่านมีดยับ, ว่านแม่ยับ (ภาคเหนือ), ตื่นเจะ (ม้ง), ว่านพัดแม่ชีม และ เชื่อกัง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Belamcanda chinensis  (L.) DC.
ชื่อสามัญ : Blackberry Lily และ Leopard Lily
วงศ์ : IRIDACEAE



WHCH1

ว่านหางช้างเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ซึ่งลำต้นมีความโดดเด่นสวยงามโดยมีลำต้นที่สูงยาวสีเหลืองเปรียบเสมือนทอง จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ และมีเชื่อว่าจะช่วยเสริมโชคลาภ ความสง่างาม เสริมสง่าราศีให้แก่เจ้าบ้าน และยังใช้เพื่อช่วยปรับฮวงจุ้ยตามหลักความเชื่อของชาวจีน อีกทั้งยังมีความเชื่อว่านหางช้างเป็นว่านมหาคุณ เมื่อนำมาปลูกไว้หน้าบ้านจะช่วยป้องกันสิ่งอัปมงคลเข้าบ้าน ช่วยป้องกันภัยจากอันตรายต่างๆ ส่วนทางภาคอีสานเชื่อว่าเป็นว่านสิริมงคล หากแม่บ้านกำลังจะคลอดบุตร ให้ใช้ว่านหางช้างมาพัดโบกที่ท้องก็จะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณที่สามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยน้ำต้มที่ได้จากการสกัดหรือน้ำแช่สกัดจากเหง้า มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อกลาก และยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดหนอง และเชื้อที่ทำให้เกิดคออักเสบได้อีกด้วย

 WHCH2

ลักษณะสมุนไพร :
ว่านหางช้างเป็นล้มลุกมีอายุหลายปี สูงประมาณ 1-1.5 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินและมีรากมาก มีเหง้าเลื้อยไปตามแนวขนานกับพื้นดิน ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงโคนของลำต้น เรียงสลับซ้ายขวาในระนาบเดียวกัน รูปดาบ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ดอกเป็นช่อตามปลายยอด แกนช่อแตกแขนงดอกออกที่ปลายแขนง 6-12 ดอก เมื่อดอกร่วงก้านดอกยังคงอยู่ ส่วนกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นกลีบลักษณะรูปขอบขนาน 6 กลีบ เรียงกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบชั้นในจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย เมื่อดอกบานกลีบดอกจะกางออก โคนกลีบมีลักษณะสอบแคบจนเป็นก้าน ด้านนอกมีสีเหลือง ส่วนด้านในและขอบกลีบมีสีส้ม มีจุดประสีแดงเข้มๆ กลีบชั้นนอกจะมีต่อม เป็นร่องยาว 1 ต่อม มีสีแดงเข้ม ผลมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ เป็นพูลึก 3 พู เปลือกผลบาง ผลเมื่อแก่จะแตกอ้าออกเป็น 3 เสี่ยง มีเมล็ดอยู่พูละ 3-8 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม มีสีดำและผิวเป็นมัน มีขนานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร

 WHCH3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เหง้าสด, ใบ และเนื้อในลำต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก เหง้าสด  แก้เจ็บคอ  ช่วยขับเสมหะ แก้ไข้ รักษาโรคคางทูม ช่วยรักษาอาการท้องมาน
  2. ใบ ยาระบายอุจจาระ แก้ระดูพิการของสตรี
  3. เนื้อในลำต้น บำรุงธาตุ แก้โรคระดูพิการของสตรี บำบัดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ยาถ่าย ช่วยทำให้เจริญอาหาร

 WHCH5

วิธีการใช้ :

  1. แก้เจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ แก้ไข้ รักษาโรคคางทูม ช่วยรักษาอาการท้องมาน นำรากหรือเหง้าสด ประมาณ 5-10 กรัม หรือแห้ง ประมาณ 3-6 กรัม ต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือจะใช้เหง้าสดประมาณ 15 กรัม ผสมกับน้ำส้มสายชู นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำชุบสำลีอมแล้วกลืนแต่น้ำช้าๆช่วยแก้อาการเจ็บคอ
  2. ยาระบายอุจจาระ แก้ระดูพิการของสตรี นำใบประมาณ 3 ใบ ต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  3. บำรุงธาตุ แก้โรคระดูพิการของสตรี บำบัดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ยาถ่าย ช่วยทำให้เจริญอาหาร นำเนื้อในลำต้น ต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

 WHCH4

ถิ่นกำเนิด :
ว่านหางช้างเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 





.