บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ลำต้นปรุงยา

ผักขวง


ชื่อสมุนไพร : ผักขวง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักขี้ขวง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), สะเดาดิน (ภาคกลาง) และ ขี้ก๋วง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glinus oppositifolius (Linn.) A.DC.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : AIZOACEAE



PKH1

ผักขวงเป็นเป็นพรรณไม้ที่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เรียกผักชนิดนี้ว่า “ขวง” โดยขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจ้า เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ โดยมักขึ้นได้ในบริเวณที่ชื้นแฉะ ตามไร่นา และตามสนามหญ้าทั่วไป ผักขวงเป็นผักที่มีรสขมคล้ายสะเดา บางแห่งจึงเรียกผักชนิดนี้ว่า “สะเดาดิน” โดยชาวบ้านตามชนบทจะใช้ผักขวงเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกและรับประทานร่วมกับลาบ บ้างนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาแกงรวมกับผักอื่นๆ แกงแค แกงเมือง หรือแกงกับปลาทูนึ่งรับประทาน คุณค่าทางโภชนาการของผักขวง 100 กรัม จะประกอบไปด้วยพลังงาน 30 กิโลแคลอรี่, น้ำ 90.3%, โปรตีน 3.2 กรัม, ไขมัน 0.4 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม, ใยอาหาร 1.1 กรัม, เถ้า 1.7 กรัม, แคลเซียม 94 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.8 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม, วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.45 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 2.7 มิลลิกรัม, วิตามินซี 19 มิลลิกรัม ผักขวงจัดอยู่ในพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้เพื่อดี (ไข้ที่เกิดจากดีพิการ มีอาการปวดศีรษะ ไข้สูง) อันประกอบไปด้วยตัวยา 7 สิ่ง ได้แก่ ผักขวง, เครือเขาด้วย, รากขี้กา, รากขัดมอน, ต้นผีเสือ, หญ้าเกล็ดหอย และน้ำผึ้ง ในพระคัมภีร์โรคนิทาน มีตำรับยาที่เข้าด้วยผักขวง 1 ตำรับ คือ ยาสุมกระหม่อมในช่วงฤดูฝน ระบุให้ใช้ผักขวง, ใบหญ้าน้ำดับไฟ, ใบหางนกยูง, ฆ้องสามย่าน, เทียนดำ, ไพล, หัวหอม, ดอกพิกุล และดินประสิวขาว นำมาบดสุมกระหม่อแก้ปวดศีรษะและจมูกตึง

 PKH2

ลักษณะสมุนไพร :
ผักขวงเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเตี้ยหรือทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขาแผ่กระจายออกไปรอบๆ ต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีขนาดเล็ก แตกใบออกตามข้อต้น ซึ่งในแต่ละข้อจะมีใบอยู่ประมาณ 4-5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น ออกเป็นดอกเดี่ยวรวมกันอยู่ตามข้อของลำต้นใกล้ๆ กับใบ ในข้อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4-6 ดอก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบมีขนาดยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวกว่ากลีบดอก โดยจะมีความยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปยาวรี มีขนาดยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก ทำให้เห็นเมล็ดที่อยู่ภายในผลได้ชัดเจน เมล็ดมีจำนวนมาก สีน้ำตาลแดง มีขนาดเท่ากับเม็ดทราย

 PKH4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ทั้งต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. ทั้งต้น ยาบำรุงธาตุ ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้ไข้ทั้งปวง แก้หวัด แก้ไอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ระงับความร้อน แก้อาการปวดหู ยาระบาย ช่วยบำรุงน้ำดี ยาแก้คัน แก้โรคผิวหนัง ยาฆ่าเชื้อ แก้อาการฟกช้ำบวมอักเสบ

 PKH3

วิธีการใช้ :

  1. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก นำต้นสดนำมาตำผสมกับขิงใช้เป็นยาสุมกระหม่อมเด็ก แก้ไข้ แก้ไข้ทั้งปวง แก้หวัด แก้ไอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ระงับความร้อน
  2. แก้อาการปวดหู นำทั้งต้นใช้ผสมกับน้ำมันละหุ่ง แล้วนำไปอุ่นใช้เป็นยาหยอดหู
  3. ยาบำรุงธาตุ ยาระบาย ช่วยบำรุงน้ำดี นำต้นสดมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
  4. ยาแก้คัน แก้โรคผิวหนัง ยาฆ่าเชื้อ แก้อาการฟกช้ำบวมอักเสบ นำทั้งต้นสดมาตำ ทาบริเวณแผล

ถิ่นกำเนิด :
ผักขวงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 





.