น้อยหน่า

1

ชื่อสมุนไพร : น้อยหน่า
ชื่อเรียกอื่นๆ : น้อยแหน่, มะนอแหน่, บักเขียบ,หมักเขียบ, ลาหนัง, มะแน่ , หน่อเกล๊ะแซ, มะออจ้า, มะโอจ่า และเตียบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Annona squamosa L.
ชื่อสามัญ : Sugar Apple
วงศ์ :  Annonaceae

น้อยหน่าเป็นพืชยืนต้น ที่มีรสชาติหวาน เจริญเติบโตง่าย เพาะปลูกมากในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นิยมนำเอาส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นผลดิบ ผลแห้ง เมล็ด และใบมาใช้เป็นยารักษาอาการต่างๆ โดยสรรพคุณที่โดดเด่นที่สุดของน้อยหน่าคือการนำมาใช้เป็นยากำจัดเหา

2

ลักษณะสมุนไพร :
น้อยหน่าเป็นไม้ยืนต้น ลำต้นไม่ใหญ่ ผิวเกลี้ยง สีเทาอมน้ำตาล มีความสูงประมาณ 3-5 เมตร ใบน้อยหน่าเป็นใบเดี่ยว สีเขียว รูปรี ปลายและโคนใบแหลมคล้ายหอก ขนาดใบกว้าง 3-6 ซม. ยาว 7-13 ซม. วางเรียงสลับกันไปตามข้อของต้น ก้านใบยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ลักษณะดอกจะห้อยหัวลง กลีบดอกมีสีเหลืองแกมเขียว หนาอวบน้ำ แต่ละดอกมีกลีบ 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในจะสั้นกว่าชั้นนอก แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้และรังไข่จำนวนมาก ผลน้อยหน่าเป็นผลกลุ่ม ลักษณะลูกกลมป้อม ผิวนอกมีสีเขียวและขรุขระ เนื้อในของน้อยหน่ามีสีขาว รสหวาน และมีเมล็ดภายในสีน้ำตาลเข้มถึงดำจำนวนมาก เมื่อผลสุกขอบช่องนูนจะออกสีขาว และจะมีเนื้อสัมผัสนิ่มขึ้น น้อยหน่าขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการเพาะเมล็ด โดยฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะพันธุ์คือช่วงฤดูฝน อีกทั้งน้อยหน่ายังเป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตง่าย ปลูกได้ดีในดินทุกชนิด

3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ, เนื้อในเมล็ดสด และผล
สรรพคุณทางยา:

  1. ใบสด มีสารสำคัญคือ แอนโนเนอีน (anonaine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอย มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดหนอนหรือแมลงในผัก ฆ่าเพลี้ยจักจั่น ด้วงปีกแข็ง เพลี้ยอ่อนแมลงวันมวนปีกแข็งไรทะเลและเพลี้ยอ่อนถั่วได้ นอกจากนี้ใบน้อยหน่ายีงมีสรรพคุณในการขับพยาธิลำไส้ ฆ่าเหาและแก้กลากเกลื้อน
  2. เมล็ด ในเมล็ดเมล็ดน้อยหน่าก็มีสารสำคัญคือแอนโนเนอีน (anonaine) เช่นเดียวกับในใบ ดังนั้นจึงมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด ฆ่าเหา และแก้บวมได้
  3. ผล หากเป็นผลดิบจะใช้เป็นยาแก้พิษงู แก้ฝีในคอ กลากเกลื้อนและฆ่าพยาธิ ส่วนผลแห้งสามารถช่วยแก้โรคงูสวัด เริมและฝีในหูได้

4

วิธีการใช้:

  1. ฆ่าเหา ตำใบสด 8-12 ใบ หรือตำเมล็ดที่กะเทาะเปลือกแล้วให้ละเอียดประมาณ 4-5 ช้อนแกง แล้วนำมาผสมกับน้ำมันพืชให้พอเปียก อาจใช้เป็นน้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันมะพร้าวก็ได้ จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้มาชะโลมให้ทั่ว ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วจึงสระออก ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 2-3 วัน จะทำให้ตัวเหาและไข่จะฝ่อหมด หรืออาจนำใบน้อยหน่าที่ตำจนละเอียดมาผสมกับเหล้า 28 ดีกรี คลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วนำมาชะโลมบนเส้นผม เอาผ้าคลุมไว้ 10-30 นาที ก่อนใช้หวีสาง ตัวเหาก็จะตกลงมาทันทีเช่นกัน
  2. รักษาหิด ตำใบสดหรือเมล็ดให้ละเอียด ผสมน้ำมันพืชให้ลงพอแฉะ แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
  3. รักษาจี๊ด ตำเมล็ดสดประมาณ 20 เมล็ดให้ละเอียด และละลายสารส้มขนาดเท่าหัวแม่มือด้วยไฟอ่อน เมื่อสารส้มละลายเป็นเนื้อเดียวแล้วจึงโรยผงของเมล็ดน้อยหน่าลงไปทีละน้อย คนให้เข้ากัน จากนั้นรอให้เย็นลงเล็กน้อยพอที่จะใช้ยาป้ายผิวหนังได้ แล้วจึงป้ายยาลงตรงตำแหน่งที่บวม ทำวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหาย สามารถเก็บยาที่เตรียมไว้ได้หลายวัน แต่ก่อนใช้จะต้องนำมาตั้งไฟอ่อนๆให้พอละลายก่อน
  4. รักษากากเกลื้อน ตำใบน้อยหน่าสด 7-8 ใบ ให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นนำมาพอกบริเวณผิวหนังที่เป็นกลากเกลื้อน

อย่างไรก็ตาม น้ำสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ดังนั้นควรศึกษาให้ดีก่อนใช้และระวังอย่าให้น้ำยาเข้าตาเพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุในตาได้

5

ถิ่นกำเนิดของน้อยหน่า:
น้อยหน่ามีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลางและใต้ พบได้ทั่วไปในเขตร้อนรวมถึงประเทศไทย

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy