ชื่อสมุนไพร : ติ้วขน
ชื่อเรียกอื่นๆ : ติ้วขาว, แต้ว, ผักแต้ว (กรุงเทพ), ติ้วแดง, ติ้วเลือด, ติ้วยาง (ภาคเหนือ), ผักติ้ว (ภาคอีสาน), ติ้วเหลือง (ภาคกลาง),กุยฉ่องเช้า (กะเหรี่ยง-ลำปาง), เน็กเครแย่ (ละว้า-เชียงใหม่), กวยโซง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ราเง้ง (เขมร-สุรินทร์) และ ผักแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum (Jack) Dyer subsp.pruniflorum (Kurz) Gogel.
วงศ์ : GUTTIFERAE
ติ้วขนหรือผักติ้วเป็นพืชที่พบได้ในป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทยซึ่งเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ไม่ยาก อีกทั้งไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงศัตรูพืชจึงไม่ต้องกังวลกับสารพิษตกค้างหากนำมารับประทานถือได้ว่าเป็นผักพื้นบ้านของคนภาคอีสานส่วนใหญ่นิยมรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหารต่างๆ ได้แก่ ลาบ ก้อย น้ำพริก หมี่กะทิ หรือนำไปแกงเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวจากงานวิจัยของนิสิตโครงการปริญญาเอก พบว่า สารสกัดจากผักติ้วที่ชื่อว่า “คอลโรจินิกเอซิก” สามารถยับยั้งกลิ่นหืนของอาหารได้เป็นอย่างดีนอกเหนือจากประโยชน์ด้านการเป็นอาหารแล้วยังมีสรรพคุณทางยาที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งก็คือ ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งตับได้ สอดคล้องกับงานวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่องการทดลองสารที่พบจากใบผักติ้วนั้นมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งตับ และไม่ทำลายเซลล์ปกติ รวมถึงสารสกัดจากกิ่งช่วยออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทำให้เซลล์มะเร็งตายเนื่องจากเกิดจากการสร้างโปรตีนชนิดใหม่เพื่อไปทำลายตัวเอง และไม่มีผลต่อการทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง จึงทำให้ร่างกายไม่เกิดอาการอักเสบและไม่มีผลข้างเคียงต่อการใช้ยา ดังนั้นการรับประทานผักติ้วเป็นประจำจะมีส่วนช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
ลักษณะสมุนไพร :
ติ้วขนเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก ที่มีความสูง 8-15 เมตร เปลือกลำต้นสีเทา เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแกมเหลือง และมีน้ำยางสีเหลืองปนแดง มีรอยแตกเป็นสะเก็ดๆ โคนต้นมีหนาม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันรูปทรงรี หรือรูปไข่ มีความกว้าง 2-5 ซม. ความยาว 3-13 ซม. ปลายใบแหลม โคนสอบเรียว ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 5-15 มม. ดอกมีสีชมพูอ่อนถึงสีแดง กลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ง่ามกิ่ง หรือตามลำต้น มีดอกช่อละ 1-6 ดอก ก้านดอกความยาว 3 -10 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ มีขนด้านนอก กลีบดอกมีสีขาว สีชมพูอ่อนถึงชมพูแก่ จำนวน 5 กลีบ เกสรเพศผู้ติดกันเป็นกลุ่ม อับเรณูมีต่อมที่ปลาย ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ผลมีรูปทรงรี กว้าง 4-6 มม. ยาว 10-16 มม. เมื่อแก่จัดแตกเป็น 3 แฉก เมล็ดมีสีน้ำตาล
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, กิ่ง, ใบ, ดอก, ยอดอ่อน และ เปลือกต้น
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้อาการปวดท้อง แก้อาการปัสสาวะ
- กิ่ง ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ใบ รักษามะเร็งตับ แก้อาการปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต แก้อาการปวดท้อง
- ดอก ป้องกันการเกิดโรคกระดูกบาง บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต
- ยอดอ่อน ป้องกันการเกิดโรคกระดูกบาง บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต ช่วยขับลม
- เปลือกต้น แก้ธาตุพิการ รักษาโรคผิวหนัง
วิธีการใช้ :
- แก้อาการปวดท้อง นำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้องรากผสมกับรากปลาไหลและหัวแห้วหมู นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้งก็ได้ มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ
- ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว นำกิ่งมาทำเป็นสารสกัด
- รักษามะเร็งตับ แก้อาการปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต แก้อาการปวดท้อง นำใบมารับประทานสดๆ หรือต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ป้องกันการเกิดโรคกระดูกบาง บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต นำดอกหรือยอดอ่อนมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ช่วยขับลม นำยอดอ่อนมารับประทานสดๆ หรือต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ธาตุพิการ นำเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาโรคผิวหนัง นำเปลือกต้นมาตำแล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาบริเวณที่เป็น
ถิ่นกำเนิด :
ติ้วขนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.