ชื่อสมุนไพร : ชะมวง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ส้มป้อง, มะป่อง (คนเมือง), หมากโมก (อุดรธานี), มวงส้ม (นครศรีธรรมราช), กะมวง, มวง, ส้มมวง (ภาคใต้), กานิ (มลายู-นราธิวาส), ตระมูง (เขมร), ยอดมวง, ส้มม่วง, ส้มโมง และ ส้มป่อง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa Roxb. ex DC.
ชื่อสามัญ : Garcinia cowa
วงศ์ : GUTTTIFERACEAE
ชะมวงหรือต้นส้มมวงที่เป็นชื่อเรียกของคนปักษ์ใต้ จัดว่าเป็นพืชชนิดหนึ่งที่คนท้องถิ่นแถบภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดจันทบุรีไปจนถึงตราด รวมทั้งคนแถบภาคใต้นิยมนำยอดและใบอ่อนมาปรุงอาหารประเภทต้มส้ม โดยต้มกับกระดูกหมูหรือซี่โครงหมูที่เรียกว่า ซี่โครงหมูต้มใบชะมวงถือเป็นเมนูอาหารรสเด็ดยอดนิยมเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีเมนูที่รู้จักกันดีก็คือ แกงกะทิใบชะมวง ทั้งนี้ก็เพราะจะได้รสชาติที่อร่อยเปรี้ยวและกลมกล่อม ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย โดยล่าสุดทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยผลวิจัยว่าค้นพบสารชนิดใหม่ในใบชะมวงซึ่งสามารถออกฤทธิ์ต้านมะเร็งได้และได้ตั้งชื่อสารชนิดนี้ว่า ชะมวงโอน (Chamuangone) จากความสำเร็จที่ใช้ระยะเวลาศึกษาค้นคว้านานกว่า 2 ปีทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Food Chemistry ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับการยอมรับในวงการวิชาการ โดยระบุไว้ว่าสารชะมวงโอนมีฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งด้วยการทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอดและเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว สามารถนำไปใช้ดัดแปลงและพัฒนายาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์ดีขึ้นและลดอาการข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ
ลักษณะสมุนไพร :
ชะมวงเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบที่มีขนาดกลางลักษณะทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำ สูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกมีสีดำน้ำตาลผิวขรุขระแตกเป็นสะเก็ด เปลือกด้านในมีสีขมพูออกแดงและมีน้ำยางสีเหลือง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกันลักษณะรูปรีแกมใบหอกหรือขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ มีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนาและเปราะ ก้านใบสีแดงมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ดอกออกตามซอกใบและตามกิ่ง ดอกตัวผู้มีดอกย่อย 3-8 ดอก มีเกสรตัวผู้รูปสีเหลี่ยม กลีบดอกมีสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอมลักษณะแข็งหนา 4 กลีบ และกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ดอกตัวเมียออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง ผลรูปกลมแป้น ผิวเรียบมัน ขนาด 2.5-6 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงส้ม เนื้อหนาภายในมีเมล็ด 4-6 เมล็ด รูปทรงรี ผลสุกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทาน แต่มียางทำให้ติดฟัน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ยาง และ ผล
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ยาถอน พิษไข้ แก้บิด เสมหะ เป็นพิษ
- ใบ รักษาโรคมะเร็ง ยาระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ แก้โลหิต แก้ไอ แก้กระหายน้ำ
- ยาง สกัดทำสีย้อมผ้า
- ผล ระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ แก้กระหายน้ำ ฟอกโลหิต
วิธีการใช้ :
- แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ยาถอน พิษไข้ แก้บิด เสมหะ เป็นพิษ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาโรคมะเร็ง ยาระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ แก้โลหิต แก้ไอ แก้กระหายน้ำ รับประทานสดๆเป็นผักแกล้ม หรือ นำมาประกอบอาหารต่างๆ
- ย้อมผ้า นำยางสีเหลืองมาทำสีย้อมผ้า
- ระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ แก้กระหายน้ำ ฟอกโลหิต รับประทานสดๆเป็นผลไม้รสเปรี้ยว หรือนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ชะมวงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.