บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ดอกปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ลำต้นปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยาสมุนไพรแนะนำ

ขี้เหล็ก


ชื่อสมุนไพร : ขี้เหล็ก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง), ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี), ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง, สุราษฎร์ธานี), ผักจี้ลี้ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), แมะขี้แหละพะโด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และ ยะหา (มลายู-ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby
ชื่อสามัญ : Cassod tree และ Thai copper pod
วงศ์ :  Fabaceae (Leguminosae)



KL3

ขี้เหล็กเป็นพืชผักสมุนไพรมากประโยชน์ โดยขี้เหล็กถือเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงมากที่สุดถึง 484 มิลลิกรัมต่อดอกขี้เหล็ก 100 กรัม อีกทั้งยังมีเบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กที่มีประโบชน์ต่อร่างกาย ขี้เหล็กเป็นผักที่หารับประทานได้ง่าย พร้อมด้วยสรรพคุณอันแสนวิเศษ เช่น แก้อาการท้องผูก บำรุงน้ำดี บำรุงโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยขจัดรังแค เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาร “บาราคอล” (Baracol) ที่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท ช่วยให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้ขี้เหล็กมาปรุงเป็นอาหารจำเป็นจะต้องต้มน้ำให้เดือดและเทน้ำทิ้งสัก 2-3 รอบก่อนเพื่อลดความขม ลดความเฝื่อน ทำลายสารที่เป็นอันตรายต่อตับและลดความเป็นพิษลงเสียก่อน นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานขี้เหล็กตากแห้งแบบบรรจุเม็ดอาจทำให้เกิดอาการตับอักเสบได้

KL6

ลักษณะสมุนไพร :
ขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแคบ ลำต้นคดงอ เปลือกลำต้นมีสีเทาถึงน้ำตาล เปลือกไม้แตกเป็นร่องตื้นๆ  เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ยอดอ่อนสีแดงเรื่อ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก สีเขียวเข้ม ออกเรียงสลับ มีใบย่อยทรงรี 13-19 ใบ ขนาดกว้าง 1.5 ซม. ยาว 4 ซม. โคนใบมน  ปลายใบเว้าเล็กน้อย  ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีเหลือง มีกลีบเลี้ยง3- 4 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ กลีบหลุดร่วงง่าย ก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 ซม. ภายในดอกมีเกสรเพศผู้หลายอัน  ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว  สีน้ำตาลคล้ำ ขนาดกว้าง 1.3 ซม. ยาว 15-23 ซม. ภายในฝักมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ยาวแบนสีน้ำตาลอ่อน โดยแต่ละเมล็ดจะเรียงตามขวางอยู่ภายในฝัก

ต้นขี้เหล็กเป็นพืชสมุนไพรที่โตไว ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือทาบกิ่ง

 KL1

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก, ราก, ลำต้น, กิ่ง, ทั้งต้น, เปลือกต้น, แก่น, ใบทั้งอ่อนและแก่, ฝัก และ กระพี้
สรรพคุณทางยา :

  1. ดอก ช่วยแก้โรคเส้นประสาท แก้หืด แก้โรคโลหิตพิการ รักษารังแค และขับพยาธิ
  2. ราก  ช่วยแก้ไข้ แก้โรคเหน็บชา แก้ฟกช้ำ รักษาแผลกามโรค และช่วยบำรุงธาตุ
  3. ลำต้นและกิ่ง ใช้เป็นยาระบาย รักษาโรคผิวหนัง  แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ และขับระดูขา
  4. ทั้งต้น  ใช้ดับพิษไข้ แก้พิษเสมหะ แก้โรคหนองใน แก้อาการตัวเหลือง และใช้เป็นยาระบาย
  5. เปลือกต้น แก้โรคริดสีดวงทวาร แก้หิด แก้กระษัย และใช้เป็นยาระบาย
  6. แก่น ช่วยลดเบาหวาน แก้โรคหนองใน แก้วัณโรค รักษามะเร็ง  และรักษาโรคปอด
  7. ใบ แก้โรคบิด แก้ร้อนใน แก้โรคเหน็บชา ลดความดันโลหิต  ขับพยาธิ เป็นยาระบาย และช่วยให้นอนหลับง่าย
  8. ฝัก ใช้ถอนพิษไข้ และแก้ลมขึ้นเบื้องสูง
  9. กระพี้  ใช้ถอนพิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี และแก้กระษัยเส้นเอ็น

KL4

วิธีการใช้ : KL2

  1. แก้นอนไม่หลับ ใช้ใบแห้งประมาณ 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มกับน้ำ ดื่มรับประทานก่อนนอน หรืออาจใช้ใบอ่อนมาเป็นส่วนผสมในยาดองเหล้า ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน
  2. แก้อาการท้องผูกหรือใช้เป็นยาระบาย ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดเล็ก 3-4 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่มหนึ่งถ้วยแก้ว เหยาะเกลือเล็กน้อย ดื่มตอนเช้าหลังตื่นนอน

ถิ่นกำเนิด :
ขี้เหล็กมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 





.