ชื่อสมุนไพร : มังคุด
ชื่อเรียกอื่นๆ : มังกุสตาน (มลายู), มังกีส(อินโดนีเซีย), มิงกุทธี (พม่า), มังกุส(สิงหล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia mangostana L.
ชื่อสามัญ : Mangosteen
วงศ์ : GUTTIFERAE
มังคุดถือเป็นราชินีแห่งผลไม้ไทยที่คนไทยนิยมรับประทานเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อย หวาน และเป็นเอกลักษณ์ มังคุดสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น แกงมังคุด ยำมังคุด แยมมังคุด มังคุดกวน หรือมังคุดแช่อิ่ม แต่โดยมากจะนิยมรับประทานเป็นผลไม้ มังคุดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ การรับประทานมังคุดจะช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย ป้องกันการเกิดริ้วรอย และช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานได้อีกด้วย ในด้านของสรรพคุณ เปลือกมังคุดมีส่วนช่วยรักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง โรคลำไส้ แก้อาการท้องเดิน แก้บิด ใช้เป็นยาคุมธาตุ ต้านเชื้อแบคทีเรียจึงช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล รักษาแผลเปื่อย รักษาแผลเป็นหนอง และรักษาแผลพุพองได้
ลักษณะสมุนไพร :
มังคุดเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 7-12 เมตร จัดเป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดในเขตร้อนน็น เอ กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม สีเหลือง แตกกิ่งก้านไม่มาก ลำต้นมีสีน้ำตาลดำ ทุกส่วนของต้นมังคุดจะมียางสีเหลือง ใบเป็นเดี่ยวขนาดใหญ่ เรียงตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 6 – 11 ซม. ยาว 15 – 25 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนาและเหนียว ผิวใบมัน หลังใบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ ออกดอกตามซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีทั้งแบบสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ถ้าเป็นดอกตัวผู้จะออกกระจุกที่ปลายกิ่งประมาณ 3-9 ดอก ส่วนดอกที่สมบูรณ์เพศจะออกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีชมพูอมแดง ฉ่ำน้ำ กลีบเลี้ยงมีสีเขียวอมเหลือง ผลสดมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเกลี้ยง เปลือกนอกค่อนข้างแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลแก่เต็มที่จะมีสีม่วงแดงถึงม่วงอมดำ และมียางสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร เนื้อในผลมีสีขาว อาจมีเมล็ดหรือไม่มีเมล็ดก็ได้ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุ จำนวนกลีบของเนื้อมังคุดจะเท่ากับจำนวนกลีบดอกที่อยู่ด้านล่างของเปลือกมังคุด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกผลแห้ง
สรรพคุณทางยา :
- เปลือกผลแห้ง มีสารสำคัญคือ แทนนิน และแซนโทนช่วยรักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง โรคลำไส้ แก้อาการท้องเดิน แก้บิด ใช้เป็นยาคุมธาตุ ต้านเชื้อแบคทีเรียจึงช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล แก้แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง และแผลพุพองได้
วิธีการใช้ :
- รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้ ใช้เปลือกมังคุดสดประมาณครึ่งผลหรือประมาณ 4-5 กรัม ต้มกับน้ำ รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว
- แก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนเปลือกมังคุดกับน้ำรับประทาน ปริมาณการรับประทานสำหรับเด็กรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง ส่วนผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง
- แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกและอาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งประมาณครึ่งผลหรือประมาณ 4-5 กรัม) นำมาย่างไฟให้เกรียม แล้วฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรืออาจบดเป็นผงแล้วละลายกับน้ำเดือดก็ได้ รับประทานทุก 2 ชั่วโมง
- รักษาแผลน้ำกัดเท้า แผลพุพอง และแผลเน่าเปื่อย ใช้เปลือกผลสดหรือเปลือกผลแห้ง ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ๆ แล้วทาบริเวณแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
ข้อควรระวังสำหรับการใช้เป็นยารักษาแผลน้ำกัดเท้าก็คือ ก่อนทายาควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เช็ดแผลเสียก่อน
ถิ่นกำเนิด :
มังคุดมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะ
.