บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยา

มังคุด


ชื่อสมุนไพร : มังคุด
ชื่อเรียกอื่นๆ : มังกุสตาน (มลายู), มังกีส(อินโดนีเซีย), มิงกุทธี (พม่า), มังกุส(สิงหล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia mangostana L.
ชื่อสามัญ : Mangosteen
วงศ์ GUTTIFERAE



MK2

มังคุดถือเป็นราชินีแห่งผลไม้ไทยที่คนไทยนิยมรับประทานเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อย หวาน และเป็นเอกลักษณ์ มังคุดสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น แกงมังคุด ยำมังคุด แยมมังคุด มังคุดกวน หรือมังคุดแช่อิ่ม แต่โดยมากจะนิยมรับประทานเป็นผลไม้ มังคุดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ การรับประทานมังคุดจะช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย ป้องกันการเกิดริ้วรอย และช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานได้อีกด้วย ในด้านของสรรพคุณ เปลือกมังคุดมีส่วนช่วยรักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง โรคลำไส้ แก้อาการท้องเดิน แก้บิด ใช้เป็นยาคุมธาตุ ต้านเชื้อแบคทีเรียจึงช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล รักษาแผลเปื่อย รักษาแผลเป็นหนอง และรักษาแผลพุพองได้

 MK3

ลักษณะสมุนไพร :
มังคุดเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 7-12 เมตร จัดเป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดในเขตร้อนน็น เอ กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม สีเหลือง แตกกิ่งก้านไม่มาก ลำต้นมีสีน้ำตาลดำ ทุกส่วนของต้นมังคุดจะมียางสีเหลือง ใบเป็นเดี่ยวขนาดใหญ่ เรียงตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 6 – 11 ซม. ยาว 15 – 25 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนาและเหนียว ผิวใบมัน หลังใบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ ออกดอกตามซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีทั้งแบบสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ถ้าเป็นดอกตัวผู้จะออกกระจุกที่ปลายกิ่งประมาณ 3-9 ดอก ส่วนดอกที่สมบูรณ์เพศจะออกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีชมพูอมแดง ฉ่ำน้ำ กลีบเลี้ยงมีสีเขียวอมเหลือง ผลสดมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเกลี้ยง เปลือกนอกค่อนข้างแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลแก่เต็มที่จะมีสีม่วงแดงถึงม่วงอมดำ และมียางสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร เนื้อในผลมีสีขาว อาจมีเมล็ดหรือไม่มีเมล็ดก็ได้ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุ จำนวนกลีบของเนื้อมังคุดจะเท่ากับจำนวนกลีบดอกที่อยู่ด้านล่างของเปลือกมังคุด

 MK4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกผลแห้ง
สรรพคุณทางยา :

  1. เปลือกผลแห้ง มีสารสำคัญคือ แทนนิน และแซนโทนช่วยรักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง โรคลำไส้ แก้อาการท้องเดิน แก้บิด ใช้เป็นยาคุมธาตุ ต้านเชื้อแบคทีเรียจึงช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล แก้แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง และแผลพุพองได้

วิธีการใช้ :

  1. รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้ ใช้เปลือกมังคุดสดประมาณครึ่งผลหรือประมาณ 4-5 กรัม ต้มกับน้ำ รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว
  2. แก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนเปลือกมังคุดกับน้ำรับประทาน ปริมาณการรับประทานสำหรับเด็กรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง ส่วนผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง
  3. แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกและอาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งประมาณครึ่งผลหรือประมาณ 4-5 กรัม) นำมาย่างไฟให้เกรียม แล้วฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรืออาจบดเป็นผงแล้วละลายกับน้ำเดือดก็ได้ รับประทานทุก 2 ชั่วโมง
  4. รักษาแผลน้ำกัดเท้า แผลพุพอง และแผลเน่าเปื่อย ใช้เปลือกผลสดหรือเปลือกผลแห้ง ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ๆ แล้วทาบริเวณแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย

ข้อควรระวังสำหรับการใช้เป็นยารักษาแผลน้ำกัดเท้าก็คือ ก่อนทายาควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เช็ดแผลเสียก่อน

 MK1

ถิ่นกำเนิด :
มังคุดมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะ

 





.