ชื่อสุมนไพร : แก้ว
ชื่ออื่นๆ : กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี), แก้วขาว (ภาคกลาง), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก, ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ), แก้วลาย (สระบุรี) และจ๊าพริก (ลำปาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murraya paniculata (L.) Jack.
ชื่อสามัญ : Andaman satin wood, Chinese box tree, Orange jasmine
วงศ์ : RUTACEAE
แก้ว หรือดอกแก้ว ที่หลายๆ คนรู้จักกันเป็นอย่างดี นอกจากจะเป็นไม้ประดับสวน ที่มีลักษณะสวยงาม และมีกลิ่นที่หอมชื่นใจแล้ว แก้วยังมีตัวยาสำคัญที่จะนำมาทำเป็นสมุนไพร ช่วยบรรเทา หรือรักษาอาการโรคต่างๆ ได้
ลักษณะของสมุนไพร :
แก้ว เป็นไม้ดอกประดับ ที่มีต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ โดยความสูงเฉลี่ยสูงอยู่ที่ 5 – 10 เมตร แต่จะมีแก้วพันธุ์แคระ โดยมีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 – 40 ซม. เปลือกของต้นแก้วมีสีขาวปนเทา ลำต้นมีรอยแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องตามยาว ส่วนการแตกกิ่งของต้นแก้ว จะแตกกิ่งค่อนข้างเป็นระเบียบเรียบร้อย เรียงกิ่งกันสวยงาม ออกเป็นช่องเรียงแผงออก ใบเรียงสลับกัน ช่อหนึ่งประกอบด้วยใบย่อยประมาณ 4-8 ใบ ส่วนใบของดอกแก้ว เป็นใบประกอบ มีลักษณะผิวใบมันและมีสีเขียวเข้ม ดอกแก้ว จะออกดอกเป็นช่อมีลักษณะเรียงเป็นกระจุกกัน สีขาว กลีบดอกร่วงง่าย แต่ที่สำคัญมีกลิ่นหอมมาก ผลแก้ว มีลักษณะเป็นวงกลมรี หรือรูปไข่ ที่เปลือกของผลแก้วจะมีต่อมน้ำมันอยู่ ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 ม.ม. และยาวประมาณ 0.8-1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อผลสุกจะเป็นสีส้มแดง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ก้าน, ใบ, ราก, ดอก, ผลสุก
สรรพคุณทางยา :
- ก้านและใบ มีรสชาติ สุขุม เผ็ดร้อน ขม นำมาใช้เป็นยาชาระงับปวด หรือนำมาทาแก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้แผลปวดแผลฟกช้ำ หรือแผลที่เกิดจากการกระทบกระแทก และยังใช้แก้แก้ปวดฟันได้
- ราก มีรสชาติเผ็ด ขม สุขุม ใช้บรรเทาอาการปวดเอว และแก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น หรือที่เกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
- ใบ ใช้ในการขับพยาธิตัวตืด แก้บิด และแก้ท้องเสีย
- ราก หรือใบ ใช้เป็นยาขับประจำเดือน ในกรณีที่ประจำเดือนมาน้อยเกินไป หรือมายาก
- ดอก หรือใบ – ใช้เป็นยาแก้ไอ เวียนศีรษะ และช่วยในย่อยอาหาร แก้ไขข้ออักเสบ
วิธีใช้และปริมาณที่ใช้ :
ใช้ภายใน รับประทานขับพยาธิตัวตืด แก้บิด แก้ท้องเสีย
- ถ้าใช้ก้าน หรือใบสด ให้นำมาประมาณ 10-15 กรัม จากนั้นนำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้งเคี่ยวให้เหลือเพียง 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า เย็น
- ใช้ดองเหล้า โดยการนำก้าน ใบ หรือ รากที่นำไปตากแดดแล้ว มาดองกับเหล้า แล้วใช้ดื่มแต่เหล้า ครั้งละ 1 ถ้วย ใช้เป็นยาขับประจำเดือนได้
- ใช้รากแห้ง 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น
ใช้ภายนอก
- ใช้ก้านและใบสดในการบรรเทาอาการปวด หรือแก้ผื่นคัน โดยการนำก้าน หรือใบสดมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาพอก หรือคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น
- ถ้าใช้ใบแห้งมารักษาบาดแผล ให้นำใบแห้งบดเป็นผงละเอียด แล้วนำมาใส่ที่บาดแผล
- นำรากแห้ง หรือรากสด มาตำให้ละเอียด แล้วพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็นแผล หรือผื่นที่เกิดจากความชื้น
- นำใบ หรือก้านสด มาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50 % แล้วนำมาใช้เป็นยาชาเฉพาะที่
ถิ่นกำเนิดของแก้ว:
แก้ว มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศทางเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และออสเตรเลีย
.