หญ้าหนวดแมว

2

ชื่อสมุนไพร : หญ้าหนวดแมว
ชื่อเรียกอื่นๆ : บางรักป่า, พยับเมฆ และอีตู่ดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthosiphon aristatus (Blume) Miq.
ชื่อสามัญ : Kidney tea plant, Java tea, Cat’ s Whiskers
วงศ์ : Lamiaceae (Labiatae)

หญ้าหนวดแมวเป็นพืชสมุนไพรขนาดเล็กที่ออกดอกเกือบตลอดปี ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว สามารถปลูกในกระถางต้นไม้ได้ หญ้าหนวดแมวจัดเป็นพืชในกลุ่มเดียวกันกับกะเพราและโหระพา ที่ไม่ใช่เพียงแค่ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ แต่ยังมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะและช่วยรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือในไตได้ ด้วยสรรพคุณที่โดดเด่นจึงทำให้หญ้าหนวดแมวเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและนิยมปลูกกันตามบ้านเรือนโดยทั่วไป

3

ลักษณะสมุนไพร : หญ้าหนวดแมวจัดเป็นพืชไม้ล้มขนาดเล็ก สูงเพียง 30-60 เซนติเมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีน้ำตาลรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม มีใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด กว้าง 2-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร แตกออกจากกิ่งวางเรียงสลับตั้งฉากกัน ขอบใบมีลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกของต้นหญ้าหนวดแมวออกเป็นช่อแบบกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศคือมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ในส่วนของเกสรตัวผู้จะยื่นยาวออกมานอกกลีบดอกมีลักษณะคล้ายหนวดแมว จึงเป็นที่มาของชื่อ “หญ้าหนวดแมว” กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ส่วนกลีบดอกมีสีขาวหรือสีม่วงลักษณะโค้งเป็นรูปช้อนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำและการเพาะเมล็ด

5
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ต้น ใบ ก้านและยอดอ่อน
สรรพคุณทางยา : หญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ในขับปัสสาวะซึ่งเป็นผลมาจากสาร orthosiphonin glucoside และน้ำมันหอมระเหยที่มีซาโปนิน phytosterol และแทนนิน ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมการขับออกของโซเดียมและคลอไรด์ หญ้าหนวดแมวยังมีฤทธิ์ในการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบนและในไตได้ โดยสามารถรักษาได้ทั้งนิ่วด่างที่เกิดจากการสะสมของหินปูนหรือแคลเซียม และนิ่วกรดที่เกิดจากกรดยูริกเนื่องมาจากการรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไป โดยหญ้าหนวดแมวมีสรรพคุณในการสลายนิ่วทั้งสองชนิดได้ด้วยสารโพแทสเซียม โดยโพแทสเซียมจะช่วยปรับสมดุลกรดด่างและทำให้นิ่วไม่เกาะกันเป็นก้อนใหญ่ จึงป้องกันการตกค้างของนิ่วในไตและช่วยขยายช่องว่างในท่อไตให้มากขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามหญ้าหนวดแมวไม่สามารถละลายนิ้วก้อนใหญ่ได้ จึงอาจต้องมีการใช้ยาอื่นๆร่วมด้วยในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดนิ่วในลักษณะดังกล่าว นอกเหนือจากการรักษาโรคนิ่วแล้ว หญ้าหนวดแมวยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมตามข้อ ลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และมีส่วนช่วยบำรุงปอดได้ การรับประทานหญ้าหนวดแมวมีข้อจำกัดในผู้ป่วยบางราย โดยไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการโรคหัวใจหรือโรคไต เพราะในหญ้าหนวดแมวมีสารโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงมาก หากไตของผู้ป่วยเหล่านี้ทำงานไม่ปกติอาจจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายเนื่องจากไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกมาได้

1

วิธีใช้ :

  1. ต้น ใบและก้าน รับประทานได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง โดยทั้งสองวิธีนำมาชงกับน้ำร้อน ใช้ดื่มก่อนอาหาร 3 มื้อ หรือดื่มต่างน้ำ
  2. ยอดอ่อนนิยมนำไปหั่นเป็นชิ้นแล้วตากให้แห้ง ชงน้ำร้อนดื่มเช่นกัน

ข้อควรระวังสำหรับการรับประทานหญ้าหนวดแมวคือไม่ควรใช้การต้ม ให้ใช้การชงกับน้ำร้อนแทน นอกจากนี้ควรเลือกเฉพาะใบหรือยอดอ่อน เพราะใบแก่อาจมีความเข้มข้นสูงเกินกว่าร่างกายจะรับได้ ซึ่งส่งผลต่อฤทธิ์ในการกดหัวใจ และไม่ควรใช้ร่วมกับยาแอสไพรินเพราะสารจากหญ้าหนวดแมวจะส่งเสริมให้ยาจำพวกแอสไพรินไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้นและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ถิ่นกำเนิดของหญ้าหนวดแมว :
หญ้าหนวดแมวมีถิ่นกำเนิดแถบประเทศอินเดียสามารถปลูกได้ดีในเขตร้อนทั่วๆไป

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy