ชื่อสมุนไพร : ราชดัด
ชื่อเรียกอื่นๆ : ดีควาย, มะขี้เหา, ยาแก้ฮากขม, เท้ายายม่อมน้อย, กาจับหลัก (เชียงใหม่), พญาดาบหัก (ตราด), สอยดาว (จันทบุรี), มะลาคา (ปัตตานี), กะดัด, ฉะดัด (ใต้), ฉะดัด (สุราษฎร์), เพี้ยฟาน (โคราช), ราชดัด, ดีคน (ไทย) และ โค้วเซียมจี๊ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brucea javanica (L.) Merr.
วงศ์ : SIMAROUBACEAE
ราชดัดเป็นพืชที่มักพบตามป่าเบญจพรรณ และป่าโปร่ง โดยมีการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั้งส่วนของราก ลำต้น ใบ ผล และเมล็ด โดยมีสรรพคุณทางยาในบรรเทารักษาโรคต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งเนื่องจากภายในมีสารประกอบพวก Quassinoid ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยจะมีกลไกการออกฤทธิ์ไปยับยั้งการสังเคราะห์ Polyphenylalanine ของเซลล์มะเร็งทำให้เกิดผลกระทบต่อการสังเคราะห์ DNA นั่นเอง นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการค้นคว้าวิจัยของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จ.สมุทรปราการ ซึ่งพบว่าสารที่ถูกสกัดได้จากผลนั่นก็คือ สาร Brusatol และ สารที่สกัดได้มาจากส่วนใบและก้านนั่นก็คือ สาร Flavone และ Chrysoeriol โดยสารทั้งหมดนั้นจะมีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้เป็นอย่างดี
ลักษณะสมุนไพร :
ราชดัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5-4 เมตร ลำต้นมีเปลือกเรียบสีขาวปนเทาและมีขนสีเหลืองปกคลุม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงสลับเวียนรอบกิ่ง มีใบย่อย 5-13 ใบ แผ่นใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขอบใบหยักมนเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลมและโคนใบมน ผิวใบจะมีขนนุ่มทั้งสองด้าน เนื้อใบบางและนิ่ม ก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแยกเพศกันมักกระจายตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกย่อยมีขนาดเล็กมีสีขาวอมเขียวถึงสีแดงอมเขียวหรือสีม่วง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก มี 4 แฉก กลีบดอกเป็นรูปช้อนใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อยมีสีอมม่วงหรือสีน้ำตาลแดง กลีบดอกมีขน อยู่จำนวน 4 กลีบ เกสรตัวผู้มี 4 อัน ฐานอับเรณูทรงกลมใหญ่ ก้านชูเกสรเป็น 4 พู รังไข่เป็นชนิดอยู่สูง กลีบเลี้ยงขนาดเล็กมากมีจำนวน 4 แฉก ผลลักษณะกลมและเป็นพวง ผลสด มีเนื้อ ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดเล็กความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ออกรวมกลุ่มกัน เปลือกมีลักษณะแข็ง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีดำ คล้ายเมล็ดมะละกอแห้ง มีเมล็ดเดียวที่ผิวเรียบมีสีน้ำตาลรสขมจัด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ทั้งต้น, ผล และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้พิษไข้ ผิดสำแดงแก้บิด แก้เสียดท้อง แก้ปวดกล้ามเนื้อ แก้ไอ
- ใบแก้ฝี แก้กลากเกลื้อน ถอนพิษตะขาม แมงป่อง แก้ตับม้ามโต
- ทั้งต้น แก้ตัวเหลือง ตาเหลืองแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
- ผล แก้กระษัย บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำเหลือง แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ลมวิงเวียน แก้หาวเรอวิงเวียน แก้อาเจียน แก้เจ็บอก แก้อาเจียนเป็นเลือด เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ขับพยาธิ แก้โรคบิดไม่มีตัว ท้องร่วง และแก้ไข้มาลาเรีย
- เมล็ด รักษาโรคผิวหนังจำพวกเกลื้อน รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ ยาคุมธาตุ บำรุงธาตุ รักษาโรคบิดไม่มีตัว โรคพยาธิ แก้ท้องร่วง
วิธีการใช้ :
- แก้พิษไข้ ผิดสำแดง แก้บิด แก้เสียดท้อง แก้ปวดกล้ามเนื้อ นำรากมาฝนหรือต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ไอ นำรากมาเคี้ยวกับหมากแก้ไอ
- แก้ฝี แก้กลากเกลื้อน ถอนพิษตะขาม แมงป่อง แก้ตับม้ามโต นำใบมาตำกับปูนแดงพอกบริเวณที่เป็น
- แก้ตัวเหลือง ตาเหลือง แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย นำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้กระษัย บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำเหลือง แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ลมวิงเวียน แก้หาวเรอวิงเวียน แก้อาเจียน แก้เจ็บอก แก้อาเจียนเป็นเลือด เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ขับพยาธิ แก้โรคบิดไม่มีตัว ท้องร่วง และแก้ไข้มาลาเรีย นำผลมาทุบให้เปลือกแตกแล้วต้มรับประทานครั้งละ 5 ผล
- รักษาโรคผิวหนังจำพวกเกลื้อน นำเมล็ดแห้งตำพอแหลกแล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น
- รักษาโรคลำไส้ เป็นยาคุมธาตุ บำรุงธาตุ รักษาโรคบิดไม่มีตัว โรคพยาธิ แก้ท้องร่วง นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ราชดัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนตอนใต้
.