ชื่อสมุนไพร : มะขาม
ชื่อเรียกอื่นๆ : ขาม,ตะลูบ, ม่องโคล้ง, อำเปียล, หมากแกง และส่ามอเกล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tamarindusindica L.
ชื่อสามัญ : Tamarind, Indian date
วงศ์ : Leguminosae–Caesalpinioideae
มะขาม ถือเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่นิยมปลูกเนื่องจากให้ผลที่รับประทานได้ อร่อย มีคุณค่าทางสารอาหาร และเต็มไปด้วยสรรพคุณในการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ มะขามจัดเป็นพืชวงศ์ถั่วเช่นเดียวกับผักกะเฉด มันแกว มะขาม ถั่วเหลือง ถั่วพูและถั่วอื่นๆ มะขามในประเทศไทยแบ่งได้ 2 ชนิดคือมะขามเปรี้ยวและมะขามหวาน ซึ่งก็สามารถแบ่งแยกได้อีกหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์น้ำผึ้ง อินทผลัม หมื่นจง สีทอง เป็นต้น
ลักษณะสมุนไพร :
มะขาม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 60 ฟุต ลำต้นแข็งแรง แตกกิ่งก้านสาขาตรงส่วนยอดของต้นเปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อนมีผิวขรุขระ เป็นร่องเล็กๆ ใบมะขามเป็นใบประกอบแบบขนนก มีสีเขียวแก่ ใบออกเป็นคู่ แยกออกจากก้าน 2 ข้าง แต่ละก้านมีใบอยู่ประมาณ 10-18 คู่ ลักษณะใบย่อยเป็นรูปขอบขนานปลายและโคนใบโค้งมน ขนาดกว้าง 2–5 มม. ยาว 1–2 ซม.ช่อดอกออกบริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดงอยู่กลางดอกและมีกลิ่นหอม เมื่อดอกร่วงแล้วจะติดผลผลมีลักษณะเป็นฝักคล้ายทรงกระบอกยาวประมาณ3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเปลือกของฝักจะแข็งขึ้นและกรอบหักง่าย เนื้อมะขามมีรสเปรี้ยว และหวานเป็นผลไม้ที่คนส่วนใหญ่ชอบรับประทานเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่แสงแดดส่องถึง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือการตอนกิ่ง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบสด, ดอกสด, เนื้อหุ้มเมล็ด, ฝักดิบ, เนื้อในฝักแก่, เปลือกต้น, แก่น, ราก และเปลือกเมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ใบสด มีรสเปรี้ยวฝาดสามารถใช้เป็นยาระบาย ขับลมแก้โรคบิด แก้ไอ รักษาหวัด ขับเสมหะ หรือใช้เป็นยาภายนอกเพื่อหยอดตารักษาอาการเยื่อตาอักเสบหรือแก้อาการตามัว ได้
- ดอกสด มีสรรพคุณในการลดความดันสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง
- เนื้อหุ้มเมล็ด ใช้เป็นยาระบายหรือยาถ่าย เพื่อช่วยแก้อาการท้องผูกอีกทั้งยังมีสรรพคุณขับเสมหะ แก้ไอหรือดับกระหายได้
- ฝักดิบ นิยมใช้ฟอกเลือด และใช้เป็นยาระบายเพื่อลดความอ้วน อีกทั้งยังสามารถช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้
- เนื้อในฝักแก่ของมะขามเปียก ช่วยแก้อาการไอและขับเสมหะ
- เมล็ดในสีขาว เป็นยาถ่ายพยาธิชั้นดี ทั้งพยาธิไส้เดือนและ พยาธิเส้นด้าย
- เปลือกต้น เหมาะสำหรับลดไข้ แก้ตัวร้อน
- แก่นช่วยขับโลหิตและเสมหะ อีกทั้งช่วยให้มดลูกเข้าอู่
- ราก ช่วยแก้อาการท้องร่วง รักษาโรคเริม และโรคงูสวัดได้
- เปลือกเมล็ด ช่วยสมานแผลที่ปาก คอ ลิ้นและตามร่างกาย หรือใช้เพื่อรักษาแผลสด แผลไฟลวก หรือแผลจากโรคเบาหวาน
วิธีการใช้ :
- ยาถ่ายพยาธิ ให้กะเทาะเปลือกเมล็ดคั่วออก แล้วเอาเนื้อในเมล็ดมาแช่น้ำเกลือจนเนื้อนุ่ม รับประทานครั้งละ 20-30 เมล็ด
- ยาระบายและยาถ่าย ให้แกะเนื้อที่หุ้มเมล็ดมะขามเปียกประมาณ15-30 กรัมรับประทานจิ้มเกลือและดื่มน้ำตามมากๆ สามารถช่วยระบายได้ หรือหากต้องการฉีดสวนแก้ท้องผูกให้เอามะขามเปียกมาละลายน้ำอุ่นที่ใส่เกลือเล็กน้อย
- แก้ท้องร่วง นำเมล็ดมะขามมาคั่วจนเกรียม แล้วกะเทาะเปลือกรับประทาน หรือนำเปลือกสดหรือแห้ง ประมาณ 15-30 กรัม ต้มน้ำหรือน้ำปูนใส เพื่อดื่มรับประทาน
- รักษาแผล นำเมล็ดมากะเทาะเปลือกต้มให้เดือดแล้วนำมาพอกที่แผล
- แก้ไอและขับเสมหะ นำเนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียก รับประทานจิ้มเกลือ
- ลดความดันโลหิต นำดอกสดมาปรุงอาหาร เช่น แกงส้มหรือต้มกับปลาสลิดเพื่อรับประทาน
ถิ่นกำเนิดของมะขาม :
ต้นมะขามมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบประเทศซูดาน หลังจากนั้นได้มีการนำเข้ามาในทวีปเอเชียในแถบประเทศเขตร้อน และประเทศแถบละตินอเมริกา ในปัจจุบันนิยมปลูกมากในประเทศเม็กซิโก
.
1 Comment
Comments are closed.