ชื่อสมุนไพร : ขี้เหล็ก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง), ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี), ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง, สุราษฎร์ธานี), ผักจี้ลี้ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), แมะขี้แหละพะโด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และ ยะหา (มลายู-ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby
ชื่อสามัญ : Cassod tree และ Thai copper pod
วงศ์ : Fabaceae (Leguminosae)
ขี้เหล็กเป็นพืชผักสมุนไพรมากประโยชน์ โดยขี้เหล็กถือเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงมากที่สุดถึง 484 มิลลิกรัมต่อดอกขี้เหล็ก 100 กรัม อีกทั้งยังมีเบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กที่มีประโบชน์ต่อร่างกาย ขี้เหล็กเป็นผักที่หารับประทานได้ง่าย พร้อมด้วยสรรพคุณอันแสนวิเศษ เช่น แก้อาการท้องผูก บำรุงน้ำดี บำรุงโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยขจัดรังแค เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาร “บาราคอล” (Baracol) ที่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท ช่วยให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้ขี้เหล็กมาปรุงเป็นอาหารจำเป็นจะต้องต้มน้ำให้เดือดและเทน้ำทิ้งสัก 2-3 รอบก่อนเพื่อลดความขม ลดความเฝื่อน ทำลายสารที่เป็นอันตรายต่อตับและลดความเป็นพิษลงเสียก่อน นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานขี้เหล็กตากแห้งแบบบรรจุเม็ดอาจทำให้เกิดอาการตับอักเสบได้
ลักษณะสมุนไพร :
ขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแคบ ลำต้นคดงอ เปลือกลำต้นมีสีเทาถึงน้ำตาล เปลือกไม้แตกเป็นร่องตื้นๆ เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ยอดอ่อนสีแดงเรื่อ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก สีเขียวเข้ม ออกเรียงสลับ มีใบย่อยทรงรี 13-19 ใบ ขนาดกว้าง 1.5 ซม. ยาว 4 ซม. โคนใบมน ปลายใบเว้าเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีเหลือง มีกลีบเลี้ยง3- 4 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ กลีบหลุดร่วงง่าย ก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 ซม. ภายในดอกมีเกสรเพศผู้หลายอัน ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว สีน้ำตาลคล้ำ ขนาดกว้าง 1.3 ซม. ยาว 15-23 ซม. ภายในฝักมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ยาวแบนสีน้ำตาลอ่อน โดยแต่ละเมล็ดจะเรียงตามขวางอยู่ภายในฝัก
ต้นขี้เหล็กเป็นพืชสมุนไพรที่โตไว ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือทาบกิ่ง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก, ราก, ลำต้น, กิ่ง, ทั้งต้น, เปลือกต้น, แก่น, ใบทั้งอ่อนและแก่, ฝัก และ กระพี้
สรรพคุณทางยา :
- ดอก ช่วยแก้โรคเส้นประสาท แก้หืด แก้โรคโลหิตพิการ รักษารังแค และขับพยาธิ
- ราก ช่วยแก้ไข้ แก้โรคเหน็บชา แก้ฟกช้ำ รักษาแผลกามโรค และช่วยบำรุงธาตุ
- ลำต้นและกิ่ง ใช้เป็นยาระบาย รักษาโรคผิวหนัง แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ และขับระดูขา
- ทั้งต้น ใช้ดับพิษไข้ แก้พิษเสมหะ แก้โรคหนองใน แก้อาการตัวเหลือง และใช้เป็นยาระบาย
- เปลือกต้น แก้โรคริดสีดวงทวาร แก้หิด แก้กระษัย และใช้เป็นยาระบาย
- แก่น ช่วยลดเบาหวาน แก้โรคหนองใน แก้วัณโรค รักษามะเร็ง และรักษาโรคปอด
- ใบ แก้โรคบิด แก้ร้อนใน แก้โรคเหน็บชา ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ เป็นยาระบาย และช่วยให้นอนหลับง่าย
- ฝัก ใช้ถอนพิษไข้ และแก้ลมขึ้นเบื้องสูง
- กระพี้ ใช้ถอนพิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี และแก้กระษัยเส้นเอ็น
วิธีการใช้ :
- แก้นอนไม่หลับ ใช้ใบแห้งประมาณ 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มกับน้ำ ดื่มรับประทานก่อนนอน หรืออาจใช้ใบอ่อนมาเป็นส่วนผสมในยาดองเหล้า ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน
- แก้อาการท้องผูกหรือใช้เป็นยาระบาย ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดเล็ก 3-4 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่มหนึ่งถ้วยแก้ว เหยาะเกลือเล็กน้อย ดื่มตอนเช้าหลังตื่นนอน
ถิ่นกำเนิด :
ขี้เหล็กมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.