ชื่อสมุนไพร : กานพลู
ชื่อเรียกอื่นๆ : จันจี่ (เหนือ) และ ดอกจันทร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry
ชื่อสามัญ : Clove Tree
วงศ์ : Myrtaceae
กานพลูจัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากมีสรรพคุณทางยาที่มากมาย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ กานพลูเป็นสมุนไพรไทยที่มีรสเผ็ด แต่สามารถช่วยรักษาโรคได้ดี กานพลูมีสรรพคุณที่โดดเด่นในด้านเหงือกและฟันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยดับกลิ่นปากหรือบรรเทาอาการปวดฟัน นอกจากนี้ยังสามารถบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ขัมลม และขับเสมหะได้ กานพลูปลูกได้ดีในประเทศเขตร้อน สำหรับประเทศไทยมีการนำมาปลูกบ้างแต่ไม่แพร่หลาย โดยประเทศที่มีการเพาะปลูกและเกี่ยวมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น
ลักษณะสมุนไพร :
กานพลูเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบสีเทา ใบกานพลูเป็นใบเดี่ยวลักษณะคล้ายวงรีหรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบบางค่อนข้างเหนียว ผิวด้านบนมัน เส้นแขนงใบข้างละ 15-20 เส้น ก้านใบยาว 1-2.5 ซม. ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่น ดอกมีสีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลดำ ใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก แต่มีเกสรตัวเมียเพียง 1 อัน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับกามรูปรี ยาว 2-2.5 ซม. ผลแก่จัดจะมีสีแดง มีเมล็ดภายใน 1 เมล็ด กานพลูเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดีและมีความชื้นสูงหรือฝนตกชุก อีกทั้งเติบโตได้ดีบนพื้นที่ราบถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-900 เมตร
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก ผล ต้น เปลือก ใบ
สรรพคุณทางยา :
กานพลูมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นดอก ผล ต้น เปลือก หรือใบ รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหยก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ กานพลูถูกจัดอยู่ในบัญชียาสมุนไพร ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ว่าสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้มากมาย ดังต่อไปนี้
- เปลือก สามารถแก้ปวดท้องและแก้ลมได้
- ใบ แก้อาการปวดมวนในท้อง
- ดอก ดอกตูมของกานพลูสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน หากเป็นดอกกานพลูที่ยังไม่ได้สกัดเอาน้ำมันออกจะมีกลิ่นหอมมากและมีรสเผ็ด มีสรรพคุณช่วยรักษาโรครำมะนาด และช่วยระงับกลิ่นปากได้ดี รวมถึงช่วยบรรเทาอาการปวดฟันด้วย นอกจากนี้ดอกตูมของกานพลูยังช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ลดอาการแน่นจุกเสียดท้อง แก้โรคอุจจาระพิการ แก้โรคเหน็บชา แก้เลือดหรือน้ำเหลืองเสีย ช่วยขับน้ำคาวปลา ขับเสมหะ ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ และแก้ท้องเสียในเด็กได้
- น้ำมันหอมระเหย น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นจากดอกกานพลูจะมีสาร eugenol มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวดฟัน ฆ่าเชื้อทางทันตกรรม เป็นยาระงับการชักกระตุก นอกจากนี้น้ำมันสกัดจากกานพลูสามารถยับยั้งการเจริญของ Lactococcus garvieae ได้ด้วย หากนำอาหารปลาที่ผสมน้ำมันกานพลูในอัตราส่วนที่เหมาะสมมาเลี้ยงปลานิล จะทำให้ปลานิลมีจำนวนการตายจากการติดเชื้อ L. garvieae ลดน้อยลง
วิธีการใช้ :
- ยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม
หากใช้ในผู้ใหญ่จะใช้ดอกตูม 4-6 ดอก มาทุบแล้วชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งแก้ว แต่หากเป็นในเด็กหรือเด็กอ่อนจะใช้เพียงดอกเดียว นำมาทุบและชงในลักษณะเดียวกัน - ยาแก้ปวดฟัน
นำสำลีชุบน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกกานพลู 4-5 หยด อุดในรูฟันที่ปวด จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ หรือใช้วิธีเคี้ยวทั้งดอกแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด - ระงับกลิ่นปาก
อมดอกตูม 2-3 ดอก ไว้ในปาก จะช่วยระงับกลิ่นปากได
ถิ่นกำเนิดของกานพลู :
กานพลูมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย
.