กระดังงาไทย


ชื่อสมุนไพร : กระดังงาไทย
ชื่อเรียกอื่นๆ : กระดังงา, กระดังงาใบใหญ่ , กระดังงาใหญ่, สะบันงา และ สะบันงาต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ :. Cananga odorata  Hook.f. & Thomson var. odorata
ชื่อสามัญ : Ylang-ylang Tree, Perfume tree และ Llang-llang
วงศ์ : ANNONACEAE



 KD3

กระดังงาไทยจัดเป็นทั้งพืชสมุนไพร และไม้ประดับที่มีเอกลักษณ์ในด้านกลิ่นฉุน คนโบราณเชื่อว่าหากปลูกต้นกระดังงาไว้ประจำบ้านจะช่วยเสริมดวงในด้านชื่อเสียงอันโด่งดังได้ ในด้านของการนำมาใช้งาน ดอกกระดังงานิยมนำมาใช้ปรุงยาเพื่อขับลม บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้แน่นหน้าอก แก้จุกเสียด แก้อ่อนเพลีย ดับกระหาย ลดความดันโลหิต แก้ไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ หรือแก้โรคตา จากการวิจัยพบว่า ในดอกกระดังงาโดยเฉพาะในดอกที่แก่จัดนั้นจะมีน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพดี เหมาะสำหรับใช้ปรุงน้ำอบ เครื่องสำอาง ใช้ในการประกอบอาหาร ทำน้ำเชื่อม หรือปรุงขนมหวานได้ อีกทั้งใบและเนื้อไม้ของต้นกระดังงาก็สามารถนำมาต้มดื่มเพื่อใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้เช่นกัน กระดังงาไทยเป็นไม้ที่ออกดอกได้ตลอดปี เป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งหรือการเพาะเมล็ด
KD1
ลักษณะสมุนไพร :
จัดเป็นไม้เลื้อยทรงพุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะพุ่มเป็นทรงโปร่ง แตกกิ่งก้านในลักษณะลู่ลงด้านล่าง ต้นกระดังงาบางชนิดอาจเป็นเถาไม้เลื้อย ต้นกระดังงามีความสูงประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นมีเปลือกเกลี้ยงสีน้ำตาลและสีเทา โคนต้นมีปุ่มเล็กน้อย แตกกิ่งสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับห้อยลง สีเขียวอ่อน ใบบางนิ่ม ลักษณะใบเป็นรูปวงรีหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบกระจุก ออกตามบริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง กระจุกหนึ่งมีดอก 4-6 ดอก ดอกมีกลิ่นหอมฉุน แต่ละดอกมีกลีบ 6 กลีบ โดยแบ่งเป็น 2 ชั้นๆละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในจะสั้นและเล็กกว่ากลีบดอกชั้นนอกเล็กน้อย ลักษณะของดอกจะเรียวยาว ม้วนบิดเป็นเกลียว ห้อยลง กลีบดอกมีสีเขียวตอนออกใหม่ แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว ขนาดดอกประมาณ 3-5 นิ้ว ที่กลางดอกมีจุดเล็กๆ สีขาว ผลมีสีเขียวเข้ม ผิวมันเรียบ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำ ผลจะออกเป็นพวงประมาณพวงละ 4-14 ผล ลักษณะผลเป็นรูปทรงรี กระดังงาไทยเป็นไม้ที่ออกดอกได้ตลอดปี ต้องการแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและการเพาะเมล็ด

KD4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอกที่แก่จัด ใบ และเนื้อไม้
สรรพคุณทางยา :

  1. ดอกแก่จัด  ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลม แก้แน่นหน้าอก แก้จุกเสียด แก้อ่อนเพลีย ดับกระหาย ลดความดันโลหิต แก้ไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ แก้โรคตา
  2. ใบและเนื้อไม้  ช่วยขับปัสสาวะพิการ

 KD2

วิธีการใช้ :

  1. ขับปัสสาวะพิการ นำใบหรือเนื้อไม้มาต้มน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. กลั่นน้ำมันหอมระเหย นำดอกแก่จัดมากลั่นเอาน้ำมันหอมระเหยออกมาเพื่อรักษาโรค
  3. แต่งกลิ่นอาหาร  นำดอกแก่จัดมาอบควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตกออกและส่งกลิ่นหอมออกมา จากนั้นนำดอกไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิททิ้งไว้ 1 คืน แล้วจึงเก็บดอกทิ้งตอนเช้า

หมายเหตุ: การใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกกระดังงาในปริมาณความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ใช้งานได้ เช่น อาการคลื่นไส้  อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น
ถิ่นกำเนิด :
กระดังงาไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียที่มีภูมิอากาศเขตร้อนในแถบประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซีย

 





.