ชื่อสมุนไพร : มะลิลา
ชื่อเรียกอื่นๆ : มะลิ, มะลิลา, มะลิซ้อน, มะลิขี้ไก่, มะลิหลวง, มะลิป้อม, ข้าวแตก และเตียมูน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum Sambac (L.) Aiton
ชื่อสามัญ : Arabian jasmine, Jusmine, Kampopot
วงศ์ : OLEACEAE
มะลิจัดเป็นพืชสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะไม่ใช่เป็นเพียงดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเท่านั้น แต่ยัง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำดอกไม้แห้ง อุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหยเพื่อช่วยกระตุ้นระบบประสาท หรือการนำเอาส่วนต่างๆมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาโรค เช่น รักษาฝีหรือแผล ลดไข้ แก้อ่อนเพลีย แก้ร้อนใน หรือบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
มะลิเป็นพืชที่ออกดอกบ่อยหรือออกดอกได้เกือบทั้งปี เจริญเติบโตง่าย การปลูกและดูแลรักษาต้นมะลิก็ไม่ยุ่งยากเหมือนกับพืชที่ให้กลิ่นหอมอื่นๆ นอกจากนี้ยังขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการปักชำ
ลักษณะสมุนไพร :
มะลิมีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือบางพันธุ์เป็นไม้รอเลื้อย มีขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่สูงไม่เกิน 2 เมตร มะลิเป็นต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกมามากมาย ใบมีสีเขียวเข้ม ใบเป็นใบประกอบออกตรงข้ามกัน ใบย่อยเป็นใบเดี่ยวที่มีลักษณะคล้ายรูปไข่ หรือมีลักษณะโคนมน ปลายแหลม ขอบใบมีลักษณะเรียบ ก้านใบสั้นและมีขนสั้นๆ นุ่มมือ ใบมะลิมี 3 ใบใน 1 ข้อ ขนาดกว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. เส้นใบขนาดใหญ่มี 4-6 คู่ ดอกมะลิมีสีขาว โดยดอกอาจออกเป็นช่อเล็กๆหรือออกเป็นดอกเดี่ยว ดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนดอกติดกันเป็นหลอด สีเขียวอมเหลือง ดอกกลางจะบานก่อนดอกอื่นๆ กลีบเลี้ยงของดอกมะลิแยกได้ 7-10 ส่วน โดยดอกมะลิมีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นดอกที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ออกดอกได้ตลอดปี แต่อาจออกดอกน้อยลงในช่วงฤดูหนาว ส่วนผลสดมีสีดำแต่มักไม่ค่อยออกผลนัก
การขยายพันธุ์ดอกมะลิสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การปักชำ ตอนกิ่ง และการทับกิ่ง แต่วิธีที่นิยมกันมากที่สุดคือการปักชำ เนื่อจากทำได้ง่ายและให้ผลดี
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ ราก ดอก
สรรพคุณทางยา :
- ใบ ใบสดช่วยรักษาแผลหรือฝีพุพอง
- ดอก ดอกมะลิพบสารต่างๆมากมาย ได้แก่ benzyl alcohol, benzyl alcohol ester, jasmone, linalool, linalol ester ดอกแห้งสามารถใช้เป็นเครื่องยาหอม ช่วยรักษาอาการเป็นลม แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ลดไข้ แก้อาการหืดและบำรุงหัวใจได้ ส่วนดอกสดใช้แก้อาการตาเจ็บ แก้ไข้ตัวร้อนหรือแก้หวัดได้
- ราก รากช่วยแก้อาการร้อนใน รักษาอาการเสียดท้อง รักษาโรคหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน แก้อาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ แก้ปวดตามข้อ แก้หายใจติดขัดและไอ และใช้บำรุงหัวใจ
แม้ว่าดอกมะลิจะเป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม หากนำมาใช้งานมากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ เนื่องจากจะแสลงกับโรคลมจุกเสียด นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิมาใช้ในการกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้า เฉื่อยชาหรืออ่อนเพลียได้ สารสกัดนี้จะช่วยปรับสมดุลของจิตใจให้เป็นปกติ ช่วยผ่อนคลาย ต้านอาการซึมเศร้า ลดอาการหวาดกลัว ช่วยกระตุ้นน้ำนม ทำให้ฮอร์โมนสมดุล ช่วยลดการหายใจติดขัด อีกทั้งบรรเทาอาการปวดศีรษะและบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากความเครียดได้
วิธีการใช้ :
- บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ใช้ดอกแห้ง 1.5 – 3 กรัม ต้มกับน้ำเดือดหรือชงน้ำร้อนดื่มรับประทาน
- รักษาแผลหรือฝีพุพอง ตำใบให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำมะพร้าวใหม่ๆ นำไปลนไฟ ก่อนทาที่แผลเพื่อรักษาอาการ
ถิ่นกำเนิดของ:
ดอกมะลิที่ถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชีย เช่น อินเดีย และคาบสมุทรอาระเบีย
.