ชื่อสมุนไพร : บอน
ชื่อเรียกอื่นๆ : ตุน , บอนหอม, บอนจืด, บอนเขียว, บอนจีนดำ, บอนท่า, บอนน้ำ, คึ ขื่อที้พ้อ, ขือท่อซู่, คึทีโบ, คูชี้บ้อง, คูไทย, ทีพอ, กลาดีไอย์, กลาดีกุบุเฮง, เผือก และ บอนหวาน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocasia esculenta (L.) Schott
ชื่อสามัญ : Elephant ear, Cocoyam, Dasheen, Eddoe, Japanese taro และ Taro
วงศ์ : ARACEAE
บอนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตราบลุ่มของประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ ในประเทศไทยสามารถพบได้แทบทุกภาค ส่วนต่างๆของต้นบอนสามารถนำเอามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไหลและหัวใต้ดินสามารถนำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นอาหารได้ ใบอ่อนและก้านใบอ่อนสามารถนำมาใช้ทำอาหารประเภทต้มหรือจะนำมาจิ้มน้ำพริกรับประทานได้ แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้สุกโดยการต้มหรือการเผาไฟก่อน จึงจะรับประทานได้อย่างปลอดภัยไม่คัน ด้านการรักษาโรคก็มีสรรพคุณมากมาย ทั้งช่วยในการแก้ไข้ แก้เจ็บคอ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ขับน้ำนมของสตรี หรือช่วยลดความดันโลหิต อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับเพื่อตกแต่งสถานที่ให้ดูสวยงามได้อีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
ต้นบอนจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีเหง้าทรงกระบอกอยู่ใต้ดิน มักพบต้นบอนขึ้นเป็นกลุ่มๆเรียงรายตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำ ต้นบอนมีความสูงประมาณ 0.7-1.2 เมตร ลำต้นประกอบไปด้วยหัวขนาดกลางและหัวขนาดย่อยอยู่รอบๆหัวขนาดใหญ่ ใบบอนเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบต้น แต่ละกอจะมีใบประมาณ 7-9 ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยมมองดูคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าแหลม ขนาดกว้างประมาณ 10-35 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ก้านใบออกที่ตรงกลางแผ่นใบ โคนใบแยกออกเป็นแฉกสองแฉก หน้าใบมีสีเขียวและมีไขเคลือบผิวหน้า ส่วนด้านหลังมีสีเขียวอ่อน ม่วงหรือเป็นสีขาวนวล ก้านใบยาวประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีเขียวแกมม่วงหรือเขียวแกมเหลือง ยึดติดอยู่กับด้านล่างของใบ ดอกบอนออกดอกเป็นช่อจากลำต้นใต้ดิน มีกาบสีเหลืองอ่อนก่อหุ้มอยู่ ขนาดดอกยาวประมาณ 26 เซนติเมตร ดอกย่อยแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ฉ่ำน้ำ ลักษณะดอกเป็นกระเปาะสีเขียวเป็นแท่งอยู่ตรงกลาง มีกลิ่นหอม ผลบอนสดมีสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดน้อย พืชชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ไหล และปักชำหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มักขึ้นเองตามที่ลุ่ม ตามพื้นที่มีดินโคลน บริเวณริมน้ำลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้นๆ
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ลำต้นใต้ดิน, ราก, หัว, ก้านใบ, ลำต้น, ยาง และไหล
สรรพคุณทางยา :
- ลำต้นใต้ดิน แก้ไข้ แก้พิษแมลงป่อง
- ราก แก้อาการเจ็บคอและเสียงแหบแห้ง แก้ท้องเสีย
- หัว ยาระบาย ขับปัสสาวะ กัดฝ้าหนอง ขับน้ำนมของสตรี ลดความดันโลหิต
- ก้านใบ ห้ามเลือด แก้พิษคางคก
- ลำต้น รักษาแผลทั่วไปและแผลจากงูกัด แก้อาการฟกช้ำ
- ยาง ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย กำจัดหูด
- ไหล แก้ฝีตะมอย
วิธีการใช้ :
- แก้อาการเจ็บคอและเสียงแหบแห้ง แก้ท้องเสีย นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาแผลทั่วไปและแผลจากงูกัด นำลำต้นมาบด แล้วพอกรักษาแผล
- แก้พิษคางคก นำก้านใบมาตัดหัวและท้ายออก นำไปลนไฟ แล้วบิดเอาน้ำมาใช้หยอดแผล
- รักษาฝีตะมอย นำไหลมาตำผสมกับเหง้าขมิ้น กะปิ ขี้วัว และเหล้าโรงเล็กน้อย แล้วใช้พอกบริเวณแผล
- แก้ฟกช้ำ ห้ามเลือด นำก้านใบมาคั้นน้ำ แล้วใช้เป็นยานวดแก้อาการฟกช้ำหรือห้ามเลือด
ถิ่นกำเนิด : ต้นบอนถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์
.