ชื่อสมุนไพร : ตับเต่าต้น
ชื่อเรียกอื่นๆ : ตับเต่า (คนเมือง), มะไฟผี (เชียงราย), มะโกป่า (แพร่), ชิ้นกวาง, เรื้อนกวาง, ลิ้นกวาง (ปราจีนบุรี), ตับเต่าหลวง, มะพลับดง (ราชบุรี), มะมัง (นครราชสีมา), ตับเต่าใหญ่ (ชัยภูมิ), เฮื้อนกวาง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกฉียงเหนือ), กากะเลา, มาเมี้ยง และ แฮดกวาง (ภาคตะวันออกฉียงเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diospyros ehretioides Wall. ex G. Don
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : EBENACEAE
ตับเต่าต้นเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในพม่าและภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบได้แทบทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรังและตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-500 เมตร ประโยชน์ของตับเต่าต้น ลำต้นที่มีขนาดใหญ่ของต้นตับเต่าต้น สามารถนำเนื้อไม้มาใช้สร้างบ้าน ใช้ทำเครื่องมือขนาดเล็กได้ ส่วนกิ่งใช้สำหรับทำฟืน ผลตับเต่าต้นนำมาตำผสมกับน้ำใช้เป็นยาเบื่อปลา กิ่งสดนำมาทุบใช้สีฟันทำให้เหงือกและฟันทน เนื้อไม้และเปลือกใช้ทำเยื่อกระดาษ
ลักษณะสมุนไพร :
ตับเต่าต้นเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวย เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทาอมขาว ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอมแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่กว้าง หรือรูปไข่ถึงรูปวงรี ปลายใบกลมหรือมน โคนใบกลมหรือคล้ายรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-23 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-28 เซนติเมตร เนื้อใบเกลี้ยงและหนา ผิวใบด้านล่างมีขนหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบมีประมาณ 6-12 คู่ เห็นเส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนสั้นนุ่ม ส่วนใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกเป็นแบบแยกเพศ อยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกสั้นๆ ตามกิ่งเหนือง่ามใบ ช่อหนึ่งมักมีดอกประมาณ 3 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปคนโท ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ปลายแฉกลึกประมาณ 1/3 ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปกลมป้อม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดคงทน มีขนด้านดอก ปลายกลีบแฉกเกินกึ่งหนึ่งเกือบจรดโคน กลีบพับงอเล็กน้อย มีก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เอนโดสเปิร์มมีลาย เมื่อแก่แห้งเป็นสีดำและไม่แตก
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, แก่น, เปลือกต้น และ ใบ
สรรพคุณทางยา :
- ราก ยาแก้ไข้ ลดไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้พิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ยาแก้วัณโรค ยาบำรุงปอด ยาแก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด ยารักษาแผลเรื้อรัง
- แก่น ยาแก้ไข้ ลดไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้พิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ยาแก้วัณโรค ยาบำรุงปอด ยาบำรุงเลือด
- เปลือกต้น ยารักษาโรครำมะนาด ยาแก้ผิดสำแดง ยาแก้ท้องร่วง ยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ยารักษาโรคมะเร็งในตับ
- ใบ ยารักษาโรคมะเร็งในตับ
วิธีการใช้ :
- ยาแก้ไข้ ลดไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้พิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ยาแก้วัณโรค ยาบำรุงปอด ยาแก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด ยารักษาแผลเรื้อรัง นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาแก้ไข้ ลดไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้พิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ยาแก้วัณโรค ยาบำรุงปอด ยาบำรุงเลือด นำแก่นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยารักษาโรครำมะนาด ยาแก้ผิดสำแดง ยาแก้ท้องร่วง ยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ยารักษาโรคมะเร็งในตับ นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยารักษาโรคมะเร็งในตับ นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ตับเต่าต้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในพม่าและภูมิภาคอินโดจีน (ลาวและกัมพูชา)
.