ว่านธรณีสาร


ชื่อสมุนไพร : ว่านธรณีสาร
ชื่อเรียกอื่นๆ : มะขามป้อมดิน (เชียงใหม่), เสนียด (กรุงเทพมหานคร), กระทืบยอด (ชุมพร), ก้างปลาดิน, ดอกใต้ใบ (นครศรีธรรมราช), ตรึงบาดาล (ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลาแดง, ครีบยอด (สุราษฎร์ธานี), คดทราย (สงขลา), รุรี (สตูล) และ ก้างปลา (นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus pulcher  Wall. ex Müll.Arg.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : EUPHORBIACEA



WTNS4

ว่านธรณีสารถือเป็นสมุนไพรที่คนโบราณยกให้เป็นไม้มงคลชั้นสูง และนิยมนำเอาใบและก้านมาใช้ประพรมน้ำมนต์เพื่อปัดรังควาญ พืชชนิดนี้จึงนิยมปลูกกันไว้ตามวัด แต่ก็มีบ้างที่นำมาใช้ปลูกตามบ้านเรือน ว่านธรณีสารสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ด สามารถนำทั้งส่วนที่เป็นใบ ราก และลำต้น มาใช้ในการรักษาอาการป่วยในร่างกายได้มากมาย เนื่องจากมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้หลายด้าน ทั้งการนำไปใช้ในการรักษาแผลในปาก ลดอาการเหงือกบวม แก้ปวดฟัน แก้ไข้ตัวร้อน แก้โรคตาลทราง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้องโดยช่วยในการขับลม แก้ฝี แก้ปวดบวม แก้ผื่นคัน ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้นิ่วในไต แก้ปวดแผลจากการไหม้ แก้บวมคัน ยาล้างตา ช่วยทำให้ไตทำงานตามปกติ ดูดหนองรักษาแผล และใช้พอกแก้กระดูกหัก

WTNS2xxxxxxxx

ลักษณะสมุนไพร :

ว่านธรณีสารจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ที่มีความสูงเพียงแค่ 1-1.5 เมตร ลำต้นแผ่กิ่งก้านบริเวณใกล้กับปลายยอด ลำต้นมีลักษณะกลม มีรอยแผลใบตามลำต้น เปลือกเรียบ ผิวสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน มีใบย่อยประมาณ 15-30 คู่ ในแต่ละกิ่งย่อย ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานเบี้ยวหรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ มีติ่งแหลมขนาดเล็กอยู่ที่ปลายใบ ใบย่อยขนาดกว้าง 0.8-1.3 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบบาง หลังใบมีสีเขียว ท้องใบมีสีเทาแกมเขียว ก้านใบมีสีแดงขนาดสั้นเพียง 0.8-1.5 มิลลิเมตร หูใบมีสีน้ำตาลแดง ลักษณะเป็นรูปหอกแกมรูปสามเหลี่ยม ขนาด 3-4 x 1.5-2 มิลลิเมตร และพบขนนุ่มตามกิ่งอ่อนและใบประดับ ดอกเป็นดอกเดี่ยว สีแดงเข้ม แยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้มี 4 กลีบ โคนสีแดง ก้านดอกบาง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ส่วนดอกเพศจะออกห้อยลง ออกเรียงกันใต้ท้องใบ ดอกเพศเมียมี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ส่วนปลายมีพู 6 พู ผลมีสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเป็นทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง ออกเรียงเป็นแนวอยู่ใต้ใบ ว่านธรณีสารขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ด พบตามป่าผลัดใบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 เมตร

 WTNS1xxxxxxxx

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก ใบ และต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก แก้ไข้ตัวร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดและท้องเฟ้อ
  2. ใบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการปวดฟัน แก้โรคเหงือก แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้นิ่วในไต แก้ปวดแผลจากการไหม้ แก้บวมคัน ดูดหนองรักษาแผล และใช้พอกแก้กระดูกหัก
  3. ต้น ใช้เป็นยาล้างตา แก้ปวดท้อง ช่วยทำให้ไตทำงานตามปกติ แก้ไข้ แก้ผิวหนังอักเสบ แก้ฝีอักเสบ และแก้อาการคัน

 WTNS3





วิธีการใช้ :

  1. ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ นำใบมาตำให้แหลกผสมกับน้ำซาวข้าวหรือเหล้า ใช้พอกผิวหนัง
  2. แก้อาการปวดฟัน แก้โรคเหงือก แก้ผื่นคัน แก้บวม ดูดหนองรักษาแผล นำใบมาตำแล้วพอกที่เหงือกหรือผิวหนัง
  3. ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ นำรากมาต้มน้ำ ดื่มรับประทาน
  4. แก้ฝีอักเสบ นำต้นมาฝนทาที่ผิวหนัง
  5. ยาพอกแก้กระดูกหัก นำใบมาตำผสมกับข้าวเหนียวดำ แล้วนำไปพอกผิวหนัง