ชื่อสมุนไพร : โสก
ชื่อเรียกอื่นๆ : โสกน้ำ (สุราษฎร์ธานี), ชุมแสงน้ำ (ยะลา), ส้มสุก (ภาคเหนือ), ตะโคลีเต๊าะ (มลายู-ปัตตานี), กาแปะห์ไอย์ (มลายู-ยะลา), อโศก, โศก, อโศกน้ำ และ อโศกวัด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saraca indica Linn.
ชื่อสามัญ : Asoka, Asoke Tree และ Saraca
วงศ์ : LEGUMINOSAE
โสกเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ชอบดินร่วนที่ระบายน้ำดีและมีความอุดมสมบูรณ์สูง ชอบอยู่ริมน้ำ ต้องการความชื้นสูง มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ลาว เวียดนามตอนใต้ คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และชวา ในบ้านเราพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยจะขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร มีบ้างที่มีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกตามวัด ปลูกประดับอาคารสถานที่ ปลูกเป็นร่มเงาตามสวนสาธารณะต่างๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพราะมีทรงพุ่มสวย และดอกมีสีสันสวยงาม แต่ควรปลูกไว้ริมน้ำ เพื่อเป็นฉากหลังของพื้นที่หรือให้ร่มเงา แต่จะไม่นิยมปลูกตามบ้าน นอกจากนี้ต้นโสกยังเป็นพืชล่อแมลง เช่น ผีเสื้อ เนื่องจากช่อดอกเป็นหลอดคล้ายดอกเข็มทำให้มีน้ำหวานมาก ผีเสื้อจึงมักชอบมากินน้ำหวานจากดอกโสก ใบอ่อนและดอกสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร ทำแกงส้ม ยำ หรือรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกก็ได้ โดยคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย โปรตีน 2.1 กรัม, ไขมัน 1.7 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม, ใยอาหาร 1.2 กรัม, แคลเซียม 46 มิลลิกรัม และ วิตามินซี 14 มิลลิกรัม
ลักษณะสมุนไพร :
โสกเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่มีความสูงของต้นได้ประมาณ 5-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปทรงกลมพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ปลายกิ่งห้อยย้อยลู่ลง เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือแตกเป็นร่องตื้นตามยาวและตามขวางของลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ แกนกลางใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 1-7 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกปลายใบมนหรือแหลม โคนใบกลม เป็นรูปหัวใจ หรือเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร แผ่นใบบาง เกลี้ยง ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนออกเหลือง ก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนฐานรองดอกยาวประมาณ 0.7-1.6 เซนติเมตร ดอกเป็นสีแสดจนถึงสีแดง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดเรียวยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร บริเวณปลายแยกเป็น 4 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่แกมรูปรี ผลมีลักษณะเป็นฝักทรงแบน รูปไข่ หรือรูปรีแกมขอบขนาน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-30 เซนติเมตร ปลายฝักเป็นจะงอยสั้นๆ ก้านฝักยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมื่อแก้ฝักจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดโสกมีลักษณะเป็นรูปไข่แบน และฝักจะเกิดจากดอกสมบูรณ์เพศ
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก, เปลือกต้น และ ราก
สรรพคุณทางยา :
- ดอก ยาบำรุงธาตุ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ
- เปลือกต้น ยาบำรุงโลหิต
- ราก ยาบำรุงโลหิต
วิธีการใช้ :
- ยาบำรุงธาตุ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ นำดอกมาต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
- ยาบำรุงโลหิต นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
- ยาบำรุงโลหิต นำรากมาต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
โสกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย
.