แค

ชื่อสมุนไพร : แค
ชื่อเรียกอื่นๆ : แคบ้าน (กลาง), แคขาว, แคแดง (เชียงใหม่), แคดอกแดง และ แคดอกขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Sesbania grandiflora  (L.) Desv.
ชื่อสามัญ : Agasta, Sesban และ Vegetable Humming Bird
วงศ์ :  FABACEAE (LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE)
C1
แคเป็นต้นไม้พื้นบ้านขนาดเล็กในสกุลโสนที่เป็นไม้เนื้ออ่อน ส่วนใหญ่ตามต่างจังหวัดมักนิยมปลูกต้นแคเป็นรั้วบ้านและริมถนนเพื่อกั้นแสดงขอบเขตบริเวณบ้าน แคเป็นพืชที่ปลูกง่ายในทุกที่ทั้งดินเหนียวหรือดินร่วน หากปลูกในบริเวณบ้านจะช่วยปรับปรุงดินทำให้ดินมีปุ๋ยเนื่องจากใบแคที่ผุแล้วจะมีแบคทีเรียที่ปมรากช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาสร้างเป็นไนโตรเจนในดินจึงทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ต้นแคสามารถแพร่พันธุ์ได้เมื่อต้นแก่แล้วด้วยเมล็ดแก่ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้แต่มีอายุไม่นานมากค่อนข้างตายง่ายในช่วงฤดูฝนต้นแคจะแตกยอดและผลิใบอ่อนแต่จะออกดอกช่วงต้นฤดูหนาว ส่วนของต้นแคที่นำมารับประทานได้ทั้งยอดอ่อน ฝักอ่อน ใบอ่อน และส่วนสำคัญที่สุดที่ให้สารอาหารสูงก็คือ ดอกแคซึ่งก็มีทั้งพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดง สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย ในส่วนของคุณค่าทางสารอาหารนั้นจะมีเส้นใยอาหารที่ช่วยทำความสะอาดลำไส้และป้องกันอาการท้องผูก และมีสารฟอสฟอรัสซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างพลังงาน อีกทั้งยังมีวิตามินซีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและลดอาการของโรคหวัดได้ นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม เหล็ก แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี ล้วนเป็นอาหารที่มีคุณค่าให้ประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกายทั้งสิ้น นอกเหนือจากประโยชน์ทางด้านสารอาหารแล้วดอกแคยังมีสรรพคุณทางยาที่เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย แก้อาการไข้หัวลม และแก้ปวดหัวได้อีกด้วย

C2

ลักษณะสมุนไพร :
แคเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ค่อนข้างสูงซึ่งมีความสูงประมาณ 3-10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากและไม่เป็นระเบียบ เนื้อไม้อ่อนกิ่งก้านเปราะหักง่าย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา มีเปลือกหนาและมีรอยขรุขระที่แตกเป็นสะเก็ด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับมีสีเขียว ใบย่อยมีขนาดเล็ก รูปขอบขนาน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ  ปลายใบและโคนใบโค้งมน ความกว้าง 1-1.5 ซม. ความยาว 3-4 ซม. ดอกเป็นรูปดอกถั่วออกเป็นช่อที่บริเวณซอกใบและออกเป็นกระจุกๆละ 2-4 ดอก กลีบดอกสีขาวหรือสีแดง  มีกลิ่นหอม ก้านเกสรเพศผู้สีขาว 60 อัน ผลเป็นฝักที่มีลักษณะกลมความยาว 30-50 ซม. ฝักแก่จะแตกเป็นออกเป็น 2 ซีก ลักษณะเมล็ดกลมแป้นมีหลายเมล็ดและมีสีน้ำตาล

 C3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เปลือกต้น, ดอก, ใบสด และ ยอดอ่อน
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก เป็นยาขับเสมหะ ลดอาการอักเสบ
  2. เปลือกต้น แก้โรคบิดมีตัว แก้มูกเลือด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ ใช้ชะล้างบาดแผล
  3. ดอก แก้ไข้หัวลมรักษาโรคริดสีดวงในจมูกแก้ปวดและหนักศีรษะ ลดความร้อน ลดไข้
  4. ใบสด เป็นยาระบาย แก้ช้ำชอก
  5. ยอดอ่อน  แก้ไข้หัวลม เป็นยาระบาย ช่วยถอนพิษไข้และทาแก้ช้ำบวม

C5

วิธีการใช้ :

  1. ยาขับเสมหะ ลดอาการอักเสบ นำน้ำจากรากมาผสมกับน้ำผึ้ง ดื่มรับประทานเป็นยาขับเสมหะ หรือน้ำต้มรากลดอาการอักเสบ
  2. แก้โรคบิดมีตัว แก้มูกเลือด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ นำเปลือกต้นต้มหรือฝนรับประทาน
  3. ใช้ชะล้างบาดแผล นำเปลือกต้นมาฝนกับน้ำ ใช้ล้างบาดแผล
  4. แก้ไข้หัวลม นำดอกหรือยอดอ่อนมารับประทานสดๆ หรือนำมาประกอบอาหาร
  5. รักษาโรคริดสีดวงในจมูก แก้ปวดและหนักศีรษะ ลดความร้อน ลดไข้ ใช้สูดน้ำที่คั้นได้จากดอกหรือใบแคเข้าจมูก
  6. ยาระบาย ช่วยถอนพิษไข้ นำใบแคหรือยอดอ่อนสดๆมารับประทาน
  7. แก้ช้ำชอก นำใบแคหรือยอดอ่อนมาตำละเอียดแล้วพอกบริเวณที่ช้ำชอก

 C4

ถิ่นกำเนิด :
แคเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเจริญเติบโตไปทั่วโลกในเขตร้อนชื้น

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy