ชื่อสมุนไพร : เร่ว
ชื่อเรียกอื่นๆ : หมากแหน่ง (สระบุรี), หน่อเนง (ชัยภูมิ), มะอี้, หมากอี้, มะหมากอี้ (เชียงใหม่) และ หมากเนิง (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum xanthioides Wall.
ชื่อสามัญ : Bustard Cardamom และ Tavoy Cardamom
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
เร่วเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด โดยเฉพาะในดินร่วนซุยในที่ร่มรำไร นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือหน่อมากกว่าการใช้เมล็ด โดยเร่วจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดทศกุลาผล” ซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกัน 10 ชนิด ที่ประกอบไปด้วย เร่วน้อย เร่วใหญ่ ชะเอมไทย ชะเอมเทศ อบเชยไทย อบเชยเทศ ผักชีล้อม ผักชีลาว ลำพันขาว และลำพันแดง เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงปอด บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น ช่วยแก้ไข้ แก้รัตตะปิดตะโรค ช่วยขับลมในลำไส้ และแก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต และจากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าเร่วใหญ่มีฤทธิ์ขับลม ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลาย และช่วยลดความดันโลหิตอีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
เร่วเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบเรียวยาว เป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ใบมีความยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร ปลายใบแหลมและห้อยโค้งลม ก้านใบเป็นแผ่นมีขนาดสั้น ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ดอกจะรวมอยู่ในก้านเดียวกันเป็นช่อยาวๆ คล้ายกับดอกข่า กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อนแล้วจะเปลี่ยนสีน้ำตาลเทา โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นกลีบ ก้านช่อดอกสั้น ลักษณะของผลค่อนข้างกลม ลักษณะเป็น 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาร 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีขน ผลแก่สีน้ำตาลแดง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากจับกันเป็นกลุ่มก้อนกลมๆ หรือกลมรี มี 3 พู โดยแต่ละพูจะมีเมล็ดประมาณ 3-15 เมล็ด อัดเรียงกันแน่น 3-4 แถว เมล็ดมีรูปรางไม่แน่นอน มีหลายเหลี่ยมและมีเป็นสันนูน ขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ผิวด้านนอกเรียบมีเยื้อบางหุ้ม ปลายแหลมของเมล็ดมีรูเห็นได้เด่นชัด เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดมีสีขาวอมเหลือง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เมล็ดจากผลที่แก่จัด, ราก, ต้น, ใบ, ดอก และ ผล
สรรพคุณทางยา :
- เมล็ดจากผลที่แก่จัด แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับน้ำนมหลังจากคลอดบุตร
- ราก แก้หืด แก้ไอ แก้ไข้เซื่องซึม
- ต้น แก้คลื่นเหียน อาเจียน
- ใบ ขับลม แก้ปัสสาวะพิการ
- ดอก แก้พิษอันเกิดเป็นเม็ดผื่นคันตามร่างกาย
- ผล รักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง
วิธีการใช้ :
- แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับน้ำนมหลังจากคลอดบุตร นำเมล็ดจากผลที่แก่จัดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้หืด แก้ไอ แก้ไข้เซื่องซึม นำรากมาต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
- แก้คลื่นเหียน อาเจียน นำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ขับลม แก้ปัสสาวะพิการ นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้พิษอันเกิดเป็นเม็ดผื่นคันตามร่างกาย นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง นำผลมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
เร่วเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.