เจตมูลเพลิงแดง

ชื่อสมุนไพร : เจตมูลเพลิงแดง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ปิดปีแดง (เลย), ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ), ไฟใต้ดิน (ภาคใต้), ตอชูกวอ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ตั้งชู้โว้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), คุ้ยวู่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อุบ๊ะกูจ๊ะ (มลายู- ปัตตานี), จื่อเสี่ยฮวา, หงฮวาตัน (จีนกลาง) และ เจ็ดหมุนเพลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Plumbago indica Linn.
ชื่อสามัญ : Rose-colored Leadwort, Rosy Leadwort, Fire Plant, Official Leadwort  และ Indian Leadwort
วงศ์ : PLUMBAGINACEAE

 JMD2

เจตมูลเพลิงแดงเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปีและถือเป็นสมุนไพรเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทยและอินเดียที่มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรรสร้อน จึงจัดเป็นสมุนไพรประจำธาตุไฟ ในตำรายามาตรฐานของการแพทย์แผนไทยรวมทั้งหมอยาตระกูลไตทั้งหมดทั่วโลกต่างรู้จักและนำมาใช้ประโยชน์เมื่อกว่าเกือบพันปีมาแล้ว โดยเฉพาะส่วนของรากที่มีความสำคัญ โดยรากเจตมูลเพลิงแดงเมื่อมีอายุ 3 ปี ขึ้นไปนิยมมาทำเป็นยาเลือดบำรุงกำลัง หรือใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด รวมถึงในตำรับยาปรับธาตุด้วย แต่ต้องระวังยางจากรากเจตมูลเพลิงแดง หากถูกผิวหนังจะทำให้ไหม้พองเหมือนโดนเพลิงไฟ อีกทั้งต้นเจตมูลเพลิงแดงยังมีสารสำคัญ ก็คือสาร Plumbagin ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ตำรับเบญจกูลซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรที่มีรากเจตมูลเพลิงแดงเป็นหนึ่งในส่วนผสม สามารถต้านเซลล์มะเร็งปอดและลำไส้เนื่องจากมีสาร Plumbagin ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งได้ดี แต่สารชนิดนี้มักเสื่อมสลายง่ายในอุณหภูมิปกติ 25 องศาเซลเซียส จึงควรเก็บรักษาสารสกัดไว้ในอุณภูมิต่ำหรือเก็บในตู้เย็น

 JMD3

ลักษณะสมุนไพร :
เจตมูลเพลิงแดงเป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูงเพียง 1-1.5 เมตร ลำต้นกลมเรียบ กิ่งก้านมักทอดยาว กิ่งอ่อนสีเขียวปนแดงบริเวณข้อมีสีแดง ยอดอ่อนสีแดง ใบมีสีเขียวเป็นใบเดี่ยวออกสลับกันรูปรีแกมรูปไข่ ความกว้าง 3-5 ซม. ความยาว 8-13 ซม. ใบบาง ปลายใบแหลม โคนใบโค้งมน ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง ดอกสีแดงหรือม่วงออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ก้านช่อดอกมีดอกจำนวนมากประมาณ 10-15 ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด ใบประดับรูปไข่ขนาดเล็ก ความยาว 0.2-0.3 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อันตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีขนยาวที่โคน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกที่เป็นหลอดเล็ก ความยาว 0.5-1 ซม. มีสีเขียวและมีขนเหนียวๆปกคลุม หากจับจะรู้สึกเหนียวติดมือ ผลลักษณะเป็นฝักกลมๆหรือทรงรียาว ผลแห้งเมื่อแก่จะแตกตามร่อง

JMD1

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ต้น, ใบ, ดอก และ ผล
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก ต้านโรคมะเร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับประจำเดือน เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะ
  2. ต้นแก้กำเดา ยาขับประจำเดือนของสตรี แก้ฝีบวม ฝีบวมอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ แก้เคล็ดขัดยอก
  3. ใบ ยาบำรุงกำลัง ช่วยขับลม ช่วยขับเสมหะ ช่วยในการย่อยอาหาร
  4. ดอก แก้โรคหนาวเย็นรักษาโรคตา
  5. ผล แก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี

 JMD4

วิธีการใช้ :

  1. ต้านโรคมะเร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับประจำเดือน เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะ นำรากมาอบแห้งต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. แก้ฝีบวม ฝีบวมอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ แก้เคล็ดขัดยอก นำต้นสดมา 20 กรัม ตำให้แหลกผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝีจนเริ่มรู้สึกว่าร้อนแล้วให้เอาออก
  3. ยาบำรุงกำลัง ช่วยขับลม ช่วยขับเสมหะช่วยในการย่อยอาหาร นำใบนำมาป่นผสมกับพริกไทย ขมิ้นดำ ดีปลี และไพล แล้วปั้นเป็นลูกกลอน
  4. แก้โรคหนาวเย็น รักษาโรคตา นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  5. แก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี นำผลมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น

ถิ่นกำเนิด :
เจตมูลเพลิงแดงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy