สนุ่น

ชื่อสมุนไพร : สนุ่น
ชื่อเรียกอื่นๆ : สนุ่นน้ำ (นครราชสีมา), ตะหนุ่น (อยุธยา), ไคร้ใหญ่ (ยะลา), คล้าย (ปัตตานี), ไคร้นุ่น, สนุ่นบก, ตะไคร้บก (ภาคเหนือ), ไก๋นุ่น (ภาคอีสาน), กร่ยฮอ, กะดึยเดะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ไม้ไคร้ (ไทใหญ่), ตะนุ่น, ไคร้บก และ ไคร้นุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salix tetrasperma Roxb
ชื่อสามัญ : Willow, Indian Willow และ White Willow
วงศ์ : SALICACEAE

SNun1

สนุ่นเป็นพรรณไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามที่ลุ่มชื้น ที่โล่งริมธารน้ำ แม่น้ำลำคลอง ป่าชายน้ำ ป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ หรือภูเขาที่โล่ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,900 เมตร ต้นนิยมนำมาปลูกไว้ริมน้ำเพื่อยึดตลิ่งไม่ให้พังทลายได้ง่าย รากใช้ต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยทำให้รู้รสอาหาร ยอดอ่อนใช้ใส่ในแกง จะช่วยแก้เมาพิษจากปลา เช่น ปลามุง ปลาสะแงะ เป็นต้น เนื้อไม้เบา สามารถนำมาใช้ทำฟืนได้

 SNun2

ลักษณะสมุนไพร :
สนุ่นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบระยะสั้นก่อนออกดอก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นเดี่ยวตั้งตรง เนื้ออ่อน เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลเทาหรือสีเทาเข้ม มีรอยแตกลึกตามยาว กิ่งก้านแตกเป็นพุ่มทรงกลม โปร่ง กิ่งก้านมีลักษณะชูตั้งขึ้น ปลายลู่ลงเล็กน้อย แต่จะไม่ห้อยลงเป็นกิ่งยาวๆ ยอดอ่อนมีขนสีเงินขึ้นอยู่หนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน เป็นรูปลิ่ม หรือเบี้ยว ส่วนขอบหยักเป็นซี่ฟันเล็กๆ ใบแก่หนาเกลี้ยงหรือมีขนหนาแน่น หลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีขาวนวล มีก้านใบสีแดงลักษณะเรียวเล็ก ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่งข้างสั้นๆ ช่อดอกห้อยลงแบบหางกระรอก ทรงกระบอก ปลายช่อมีใบอ่อน ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่คนละต้น ดอกย่อยไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีก้านดอกเรียวเล็ก มีกาบรองดอกเป็นรูปไข่ ดอกเพศผู้มีเกสรประมาณ 4-10 อัน ส่วนดอกเพศเมียมีต่อมน้ำหวานที่ฐาน 1 ต่อม ก้านเกสรสั้น ปลายแยกเป็น 2 พู รังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น และมีก้านชูชัดเจน ผลเป็นแห้งและแตกได้ ผลเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีออกเทา แตกได้เป็น 2 พู ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กประมาณ 4-6 เมล็ด ปลายด้านหนึ่งมีแผงขนสีขาวเป็นปุย

 SNun3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เปลือกผล และ ใบ
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก ยาช่วยทำให้เจริญอาหาร ยาดับพิษร้อนทั้งปวง ยาแก้ตับพิการ
  2. เปลือกผล ยาบำรุงหัวใจ ช่วยทำให้หัวใจเต้นแรง ชูเส้นชีพจร ช่วยดับร้อน แก้เด็กตัวร้อน แก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก ยาแก้ไข้ แก้ตัวร้อน ยารักษาโรคเบาหวาน รักษาโรคริดสีดวงจมูก
  3. ใบ แก้พิษงูสวัด แก้เริม แก้แผลเปื่อย

 SNun4

วิธีการใช้ :                                     

  1. ยาช่วยทำให้เจริญอาหาร ยาดับพิษร้อนทั้งปวง ยาแก้ตับพิการ นำรากมาต้มกับน้ำรับประทาน
  2. ยาบำรุงหัวใจ ช่วยทำให้หัวใจเต้นแรง ชูเส้นชีพจร ช่วยดับร้อน แก้เด็กตัวร้อน แก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก ยาแก้ไข้ แก้ตัวร้อน ยารักษาโรคเบาหวาน รักษาโรคริดสีดวงจมูก นำเปลือกผลมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน                                                                                                        
  3. แก้พิษงูสวัด แก้เริม แก้แผลเปื่อย นำน้ำคั้นจากใบสด นำมาทา พอก หรือพ่น แก้พิษงูสวัด แก้เริม แก้แผลเปื่อย

ถิ่นกำเนิด :
สนุ่นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ปากีสถาน จีนตอนใต้ เวียดนาม พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy