ชื่อสมุนไพร : มะระขี้นก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักไห่, มะไห่, มะนอย, มะห่วย, ผักไซ (เหนือ), สุพะซู, สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะร้อยรู (กลาง), ผักเหย (สงขลา), ผักไห (นครศรีธรรมราช), ระ (ใต้), ผักสะไล, ผักไส่ (อีสาน), โกควยเกี๋ยะ, โควกวย (จีน) และ มะระเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia L.
ชื่อสามัญ : Bitter Cucumber และ Balsum Pear
วงศ์ : CUCURBITACEAE
มะระขี้นกเป็นพืชพันธุ์ไม้เลื้อยที่อยู่ในเขตร้อน จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งความขม อันเนื่องมาจากมีองค์ประกอบภายในเป็นสารอัลคาลอยด์โมโมดิซีน (momodicine) ซึ่งสารชนิดนี้จะเจือจางลงก็ต่อเมื่อถูกความร้อนส่งผลให้ความขมลดลง สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น แต่คุณค่าทางโภชนาการจะลดลงตามไปด้วย ซึ่งคุณสมบัติในด้านความขมนี้เองมีส่วนช่วยให้เจริญอาหารและถ่ายท้องได้ดี ทั้งยังป้องกันถุงน้ำดีพิการได้อีกด้วย นอกเหนือจากสารอัลคาลอยด์ที่ให้รสขมนั้น ยังพบว่ามีสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาราติน (Charatin) กับโปรตีนที่คล้ายอินซูลิน (Insulin) ที่มีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยไปกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน (Insulin) ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่ามะระขี้นกสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไลด์ในตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน จากคุณสมบัติข้อนี้จึงเป็นที่มาของการนำมะระขี้นกไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นยารักษาโรคโดยนำมาสกัดเป็นผงบรรจุในแคปซูลเพื่อรับประทานเป็นยา
ลักษณะสมุนไพร :
มะระขี้นกเป็นเป็นไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้ชนิดอื่น มีมือเกาะเกี่ยวซึ่งเปลี่ยนมาจากใบ ลำต้นเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม มีขนอ่อนๆปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับลักษณะคล้ายใบแตงโมแต่มีขนาดเล็กกว่า มีสีเขียวทั้งใบ ขอบใบเว้าเป็นแฉกๆ หยักลึกเข้าไปในใบ 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร และยาว 3.5-10 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยวตามง่ามใบแยกเพศผู้เพศเมียในต้นเดียวกัน มีสีเหลืองอ่อน มีกลีบนอกและกลีบในอย่างละ 5 กลีบ ดอกตัวผู้เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย เกสรมีสีเหลืองแก่ถึงส้ม กลีบดอกบาง ช้ำง่าย ผลเป็นผลเดี่ยว เมื่อโตเต็มที่มีรูปร่างคล้ายกระสวย มีผิวขรุขระ มีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองถึงส้ม เมื่อแก่จัดเต็มที่ปลายผลจะแตกออกเป็นแฉกๆ มีเมล็ดสีแดงสด อยู่ภายใน รูปร่างกลมแบน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เถา, ใบ, ดอก, ผล และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้พิษ แก้ร้อน แก้บิดถ่ายเป็นเลือด รักษาแผลฝีบวมอักเสบและปวดฟัน
- เถา แก้ร้อน แก้พิษ รักษาฝีอักเสบ รักษาอาการปวดฟัน
- ใบ แก้โรคกระเพาะ แก้โรคบิด รักษาแผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ
- ดอก แก้โรคบิด
- ผล แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้ตาสว่าง รักษาตาบวมแดง รักษาแผลบวมเป็นหนอง รักษาฝีอักเสบ
- เมล็ด แก้พิษ เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
วิธีการใช้ :
- แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาตาบวมแดง รักษาแผลบวมเป็นหนอง รักษาฝีอักเสบ นำผลสดมาต้มรับประทาน หรือผิงไฟให้แห้ง แล้วบดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอก ตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอก
- แก้พิษ เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ นำเมล็ดแห้งประมาณ 3 กรัม มาต้มกับน้ำ แล้วดื่มน้ำที่ต้มเมล็ด
- แก้โรคกระเพาะ แก้โรคบิด รักษาแผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ นำใบสดๆ ต้มกับน้ำแล้วดื่ม หรือนำใบแห้งบดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้าง กอก หรือคั้นเอาน้ำทา
- แก้พิษ แก้ร้อน แก้บิดถ่ายเป็นเลือด รักษาแผลฝีบวมอักเสบและปวดฟัน นำรากสด ต้มกับน้ำดื่ม แล้วดื่มน้ำต้มราก หรือ ใช้ภายนอกโดยนำรากมาต้มแล้วเอาน้ำต้มชะล้างแผลฝีบวมอักเสบ
- แก้ร้อน แก้พิษ รักษาฝีอักเสบ รักษาอาการปวดฟัน นำเถาแห้ง ประมาณ 5-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม ดื่มรับประทาน หรือใช้ภายนอก โดยต้มเอาน้ำชะล้าง หรือตำแล้วนำมาพอก
ถิ่นกำเนิด :
มะระขี้นกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเขตร้อนของเอเซียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน
.