ชื่อสมุนไพร : มะกรูด
ชื่อเรียกอื่นๆ : มะขุน, มะขูด (ภาคเหนือ), มะกูด (ภาคเหนือ), มะขู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ส้มกรูด (ภาคใต้), ส้มมั่วผี (ภาคใต้), มะหูด (หนองคาย) และ โกรยเชียด (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
ชื่อสามัญ : Leech lime, Mauritus papeda, Porcupine Orange
วงศ์ : RUTACEAE
มะกรูดเป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus) ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องปรุงอาหารหลายชนิด เนื่องมาจากกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์ที่ช่วยในการรักษาโรคต่างๆในร่างกายได้ เช่น ขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง บำรุงเส้นผม รักษาโรคชันนะตุ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยฟอกเลือด บำรุงโลหิตสตรี แก้อาการปวด เป็นยาบำรุงหัวใจ เป็นต้น มะกรูดเป็นพืชที่นิยมปลูกในหลายประเทศ โดยพบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ลักษณะสมุนไพร :
มะกรูดเป็นพืชตระกูลส้ม (Citrus) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-8 เมตร ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวเรียบ มีหนามแหลมตามกิ่งก้านและลำต้น ใบเป็นใบประกอบชนิดลดรูปที่มีใบย่อยเป็นใบเดี่ยว ปลายและโคนมน ลักษณะคล้ายกับใบ 2 ใบต่อกัน คอดกิ่วที่กลางใบ ขนาดกว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ใบมีสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบเป็นมัน มีต่อมน้ำมันอยู่ตามผิวใบทำให้มีกลิ่นหอม ใบออกแบบเรียงสลับ ก้านใบมีปีก ดอกออกเป็นช่อ ช่อละ 3 – 5 ดอก ดอกออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีขาว มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 แฉก โคนกลีบดอกติดกัน มีเกสรสีเหลืองภายในดอก ผลมีลักษณะเป็นทรงกลมหรือรูปไข่ โคนผลเรียวเป็นจุก เปลือกนอกขรุขระ ผลอ่อนมีผิวสีเขียวเข้ม แต่เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด มีต่อมน้ำมัน ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะกลมรี สีขาว มะกรูดนิยมขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ผล และ ผิวจากผล
สรรพคุณทางยา :
- ราก ช่วยขับพิษ แก้ฝี และแก้เสมหะเป็นพิษ
- ใบ มีน้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ และแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง
- ผลช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม ช่วยรักษาโรคชันนะตุ ช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียดแน่น แก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร ฟอกเลือด บำรุงโลหิตสตรี แก้อาการปวดและเป็นยาบำรุงหัวใจ
วิธีการใช้ :
- บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับเสมหะ นำมะกรูดสดมาฝานผิวออกเป็นชิ้นบางๆประมาณ 1 ช้อนแกง เติมการบูรหรือพิมเสนประมาณหยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือดและแช่ทิ้งไว้ จากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำ ดื่มรับประทาน 1 ถึง 2 ครั้ง หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้เพิ่มปริมาณโดยดื่มรับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน
- บำรุงผมให้สะอาดชุ่มชื้น ดกดำ เป็นเงางาม ผ่าผลมะกรูดออกเป็น 2 ชิ้น แล้วนำเอามะกรูดยีไปบนผมที่ผ่านการสระผมเสร็จแล้ว จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- รักษาชันนะตุ นำผลมะกรูดไปเผาไฟ ผ่าซีก แล้วนำมาใช้สระผม
- แก้เลือดออกตามไรฟัน นำน้ำที่คั้นได้จากผลมะกรูดมาใช้ถูกฟัน
- ขับลมหรือขับระดู นำผลมะกรูดมาดองเป็นยาดองเปรี้ยว แล้วนำมารับประทาน
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะ นำมะกรูดสดมาฝานผิวออกเป็นชิ้นบางๆ ชงในน้ำเดือด เติมการบูรเล็กน้อย ดื่มรับประทาน
- ขับลม แก้ปวดท้องหรือป้ายลิ้นเด็กอ่อน ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางภายในออก เอามหาหิงส์ใส่แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม จากนั้นบดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้ง ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
มะกรูดมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศมาเลเซีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
.
1 Comment
Comments are closed.