พิกุล

ชื่อสมุนไพร : พิกุล
ชื่อเรียกอื่นๆ : ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), แก้ว (ภาคเหนือ), กุน (ภาคใต้), ไกรทอง, ตันหยง, มะเมา, พกุล และ พิกุลทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi L.
ชื่อสามัญ : Asian Bulletwood, Bullet Wood, Bukal, Tanjong Tree, Medlar และ Spanish Cherry
วงศ์ : SAPOTACEAE

 PKL1

พิกุลเป็นพืชที่มีลักษณะของทรงต้นเป็นพุ่มใบทึบ มีความสวยงาม สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา หรือจะใช้ปลูกตามบริเวณลานจอดรถ ริมถนนก็ดูสวยงามเช่นกัน อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ดินดี ชอบแสงแดดจัด คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ สรรพคุณของดอกจะมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน มีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ช่วยลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อรา ต้านฮีสตามีน ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะด้วย

 PKL4

ลักษณะสมุนไพร :
พิกุลเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาล ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งก่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน รูปไข่หรือรูปรี ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวแคบ และหลุดร่วงได้ง่าย ดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง มีขนาดเล็กสีขาวนวล กลิ่นหอม และหลุดร่วงได้ง่าย มีกลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม โดยกลีบดอกจะสั้นกวากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 8 กลีบ ผลเป็นรูปไข่ถึงรี ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็งสีดำเป็นมัน

 PKL2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอกสด, ดอกแห้ง, ผลสุก, เปลือก, เมล็ด, ใบ, แก่นที่ราก และ กระพี้
สรรพคุณทางยา :

  1. ดอกสด  แก้ท้องเสีย
  2. ดอกแห้ง  เป็นยาบำรุงหัวใจ ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ
  3. ผลสุก  แก้ปวดศีรษะ แก้โรคในลำคอและปาก
  4. เปลือก  ยาอมกลั้วคอ ล้างปาก แก้เหงือกบวม รำมะนาด
  5. เมล็ด  แก้โรคท้องผูก
  6. ใบ  ฆ่าพยาธิ
  7. แก่นที่ราก  บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับลม
  8. กระพี้   แก้เกลื้อน

 PKL3

วิธีการใช้ :

  1. แก้ท้องเสีย นำดอกสดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. บำรุงหัวใจ ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ นำดอกแห้งมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือนำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำใบมาตำให้แหลกแล้วทาแก้เกลื่อนกลาก
  3. แก้ปวดศีรษะ แก้โรคในลำคอและปาก นำผลสุกมารับประทาน
  4. ยาอมกลั้วคอ ล้างปาก แก้เหงือกบวม รำมะนาด นำเปลือกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  5. แก้โรคท้องผูก นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  6. ฆ่าพยาธิ นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  7. บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับลม นำแก่นที่รากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  8. แก้เกลื้อน นำกระพี้มาฝนกับน้ำ ทาบริเวณที่เป็น

 PKL5

ถิ่นกำเนิด :
พิกุลเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และในหมู่เกาะอันดามัน

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy