ผักตบไทย

ชื่อสมุนไพร : ผักตบไทย
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักสิ้น (สงขลา), ผักตบ, ผักโป่ง (ภาคกลาง) และ ผักตบเขียด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monochoria hastata (L.) Solms
ชื่อสามัญ : Monochria และ Monochoria Arrowleaf Falsepickerelweed
วงศ์ : PONTEDERIACEAE

PTT6

ผักตบไทยเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือแยกต้นอ่อนไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามแหล่งน้ำจืด ริมหนองน้ำ คลองบึง ที่ชื้นแฉะ โคลนตม และตามท้องนาทั่วไป ลำต้นนำมาตากแห้งใช้ทำเป็นเครื่องจักสานต่างๆ เช่น กระเป๋า เป็นต้น หรือนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับ ทุกส่วนของต้นนำมาหั่นเป็นฝอยใช้เลี้ยงหมูหรือทำเป็นปุ๋ยหมักได้ สำหรับยอดอ่อน ก้านใบอ่อน และช่อดอก ใช้รับประทานเป็นผักสดผักตบไทยสดจะนิ่มกรอบ นิยมนำมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก น้ำพริกปลา ส้มตำ หรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ส่วนยอดอ่อนและดอกอ่อนนำไปปรุงเป็นแกงส้ม แกงเลียง หรือนำมาผัดก็ได้ โดยคุณค่าทางโภชนาการของผักตบไทย ต่อ 100 กรัม จะให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่, ใยอาหาร 0.7 กรัม, แคลเซียม 31 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.1 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม, เบต้าแคโรทีน 1,961 ไมโครกรัม, วิตามินเอ 324 ไมโคกรัมของเรตินอล, วิตามินบี1 0.01 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.30 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 5 มิลลิกรัม

 PTT1

ลักษณะสมุนไพร :
ผักตบไทยเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี อาศัยอยู่ในน้ำ มีเหง้าใหญ่ แตกลำต้นเป็นกอ มีความสูงได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้นอยู่ใต้ดิน ชูก้านใบเหนือระดับน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว แทงออกมาจากลำต้นใต้ดิน ก้านใบส่วนล่างมีลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อนๆ กัน ส่วนก้านใบส่วนบนมีลักษณะกลมยาวและอวบน้ำ แผ่นใบเป็นรูปหัวใจหรือรูปสามเหลี่ยมคล้ายหัวลูกศร ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.9-1.9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-8 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง ก้านใบยาวอวบ ส่วนโคนของก้านใบแผ่ออกเป็นกาบ ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกจากโคนก้านใบหรือใกล้แผ่นใบ ดอกแทงมาจากราก สูงประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวก้านใบ มีแผ่นใบประดับสีเขียวรองรับดอกย่อย 15-16 ดอก แต่ละดอกจะมีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร กลีบรวมมีจำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบดอกเป็นสีน้ำเงินปนม่วง สีฟ้าปนม่วงหรือมีสีขาวแต้มบ้างเล็กน้อย กลีบดอกค่อนข้างบอบบาง ผลเป็นแบบแคปซูล ลักษณะเป็นรูปรี แห้งและแตกได้ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล

 PTT2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ทั้งต้น, ใบ และ เหง้า
สรรพคุณทางยา :

  1. ทั้งต้น ยาแก้พิษในร่างกาย ยาขับลม แก้แผลอักเสบ หรือใช้เป็นยาทาหรือพอกถอนพิษ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน
  2. ใบ ยาขับพิษร้อน ยาแก้พิษเบื่อเมา ขับปัสสาวะ แก้ฝี
  3. เหง้า แก้รังแค

 PTT3

วิธีการใช้ :

  1. ยาแก้พิษในร่างกาย ยาขับลม นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
  2. แก้แผลอักเสบ หรือใช้เป็นยาทาหรือพอกถอนพิษ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน นำทั้งต้นมาตำทาพอกแผล
  3. ยาขับพิษร้อน ยาแก้พิษเบื่อเมา ขับปัสสาวะ นำใบมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
  4. แก้ฝี นำใบมาตำทาพอกแผลแก้ฝี
  5. แก้รังแค นำเหง้าผักตบไทย นำมาบดกับถ่านใช้ทาแก้รังแค

 PTT4

ถิ่นกำเนิด :
ผักตบไทยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy