ตะคร้ำ

ชื่อสมุนไพร : ตะคร้ำ
ชื่อเรียกอื่นๆ : อ้อยน้ำ (จันทบุรี), กะตีบ, แขกเต้า, ค้ำ, หวีด (ภาคเหนือ), คร้ำ, ตำคร้ำ (ไทย), เก๊าค้ำ, ไม้หวิด, ไม้ค้ำ (คนเมือง), ไม้ค้ำ (ไทใหญ่), ปีซะออง, ปิชะยอง (กะเหรี่ยง-จันทบุรี), กระโหม๊ะ (ขมุ), ลำคร้ำ, ลำเมาะ (ลั้วะ) และ เจี้ยนต้องแหงง (เมี่ยน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garuga pinnata Roxb.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : BURSERACEAE

TKR5

ตะคร้ำเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่ราบตามป่าโปร่ง ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้งในที่ค่อนข้างราบและใกล้ลำห้วยทั่วไป ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณชื้น ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-800 เมตร ชาวขมุจะใช้เปลือกต้นตะคร้ำนำมาขูดใส่ลาบ ใบใช้มัดเสาเอกของบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลในการช่วยค้ำชู เนื้อไม้ตะคร้ำ สามารถนำมาใช้ในการสร้างบ้านเรือ ทำเครื่องตบแต่งบ้าน เครื่องเรือน ทำฝา หีบหรือลังใส่ของได้ ผลสุกใช้รับประทานได้ และผลใช้ย้อมตอกให้สีดำ

 TKR4

ลักษณะสมุนไพร :
ตะคร้ำเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านสาขารอบๆ เรือนยอดของต้น โคนต้นเป็นพูพอน ตามกิ่งอ่อนและก้านช่อดอกมีขนสีเทาขึ้นปกคลุมกระจายอยู่ทั่วไป และมีรอยแผลใบปรากฏอยู่ตามกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นสะเก็ดหรือเป็นหลุมตื้นๆ ทั่วไป ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียนสลับเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ก้านช่อหนึ่งจะมีใบย่อยประมาณ 7-13 ใบ ออกเรียงตรงข้ามหรือทแยงกันเล็กน้อย และยาวประมาณ 10-12 นิ้ว ตรงปลายก้านจะมีใบเพียงใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบสอบหรือหยักเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือมนเบี้ยว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียว มีเส้นแขนงใบประมาณ 10-12 คู่ ออกดอกเป็นช่อใหญ่บริเวณปลายกิ่งหรือส่วนยอดของต้น ช่อดอกยาวประมาณ 6 นิ้ว ดอกย่อยมีจำนวนมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์ ลักษณะของดอกเป็นรูประฆัง กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบดอกเป็นสีครีม สีเหลือง สีเหลืองอ่อน หรือสีชมพู มี 5 กลีบ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม อวบน้ำ มีเมล็ดอยู่ภายใน สีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีเนื้อนุ่มแต่ภายในมีผิวแข็งหุ้ม

 TKR3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกต้น, ผล, ต้น และ ใบ
สรรพคุณทางยา :

  1. เปลือกต้น ยาแก้บิด แก้ท้องร่วง ยาแก้อาการปวดท้อง ยาทาห้ามเลือด ล้างแผลเรื้อรังได้ดีมาก ช่วยบำรุงครรถ์ แก้อักเสบ บวม ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ฝีหรือตุ่ม ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น
  2. ผล ยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกระเพาะอาหาร
  3. ต้น แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ
  4. ใบ ยารักษาโรคหืด

 TKR2

วิธีการใช้ :                                     

  1. ยาแก้บิด แก้ท้องร่วง นำเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินหรือนำมาบีบเพื่อเอาน้ำกินเป็นยา
  2. ยาแก้อาการปวดท้อง นำเปลือกต้นใช้ฝนใส่น้ำร่วมกับเปลือกต้นมะกอกและตะคร้อ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง
  3. ช่วยบำรุงครรถ์ นำเปลือกต้นใช้ต้มอาบสำหรับสตรีหลังคลอด
  4. ยาทาห้ามเลือด นำเปลือกต้นใช้ภายนอกเป็นยาทาห้ามเลือด
  5. ล้างแผลเรื้อรัง นำเปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำล้างใช้ล้างแผลเรื้อรังได้ดีมาก
  6. แก้อักเสบ บวม ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ฝีหรือตุ่ม นำเปลือกต้นตะคร้ำ นำมาตำพอกหรือต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้อักเสบ บวม ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ฝีหรือตุ่ม
  7. ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น นำเปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำ ให้เด็กทารกอาบ ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น
  8. ยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกระเพาะอาหาร นำผลมารับประทาน
  9. แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ นำต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดตา แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ
  10. ยารักษาโรคหืด นำน้ำคั้นจากใบตะคร้ำ นำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยารักษาโรคหืด

 TKR1
ถิ่นกำเนิด :
ตะคร้ำเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy