ชื่อสมุนไพร : กุยช่าย
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักไม้กวาด (ภาคกลาง) และ ผักแป้น (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium tuberosum Rottl. ex Spreng
ชื่อสามัญ : Chinese chives, Leek, Garlic chives, Oriental garlic, Chinese leek, Kow choi
วงศ์ : Liliaceae (Alliaceae)
กุ๋ยช่ายผักสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนได้รับนิยมอย่างสูงในการนำมาประกอบอาหาร กุ๋ยช่ายจัดอยู่ในพืชวงศ์เดียวกับกระเทียม พลับพลึง หอมแดง และหอมหัวใหญ่ขาว ด้วยรสชาติอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์และสรรพคุณอันโดดเด่น จึงทำให้กุ๋ยช่ายเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในทางอาหารและการแพทย์
กุ๋ยช่ายมีประโยชน์และสรรพคุณต่างๆมากมาย ทั้งการมีฤทธิ์ร้อนช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ช่วยบำรุงกระดูก ช่วยในการสร้างเม็ดแดงหรือเกล็ดเลือด รวมถึงความสามารถในการรักษาโรคต่างๆ เช่น บรรเทาอาการปวด แก้ฟกช้ำ รักษาโรคหูน้ำหนวกแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย แก้โรคนิ่ว แก้โรคหนองใน แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และแก้ท้อาการท้องผูก
กุ๋ยช่าย มีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ กุ๋ยช่ายเขียว และกุ๋ยช่ายขาว กุ๋ยช่ายทั้งสองมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน แต่แตกต่างกันเพียงวิธีในการปลูกและการดูแลรักษา โดยทั่วไปกุ๋ยช่ายขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดหรือแบ่งเหง้าและเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง
ลักษณะสมุนไพร :
กุ๋ยช่ายเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-45 ซม. มีเหง้าเล็กอยู่ใต้ดินและแตกกอแน่นเหนือพื้นดิน ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ลักษณะแบน เรียวยาว เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 ซม. มีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอม ก้านช่อดอกกลมตัน ก้านช่อดอกยาวประมาณ 40-45 ซม. โดยปรกติก้านดอกจะยาวกว่าใบ ดอกออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญเติบโตขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว มีกลีบดอก 6 กลีบ ยาวประมาณ 5 มม. ลักษณะโคนกลีบดอกติดกัน ปลายกลีบดอกแยก ตรงกลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือมีเส้นสีเขียวอ่อนลากยาวจากโคนกลีบไปหาปลายกลีบ ดอกบานกว้างประมาณ 1 ซม. มีเกสรเพศผู้ 6 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกุ๋ยช่ายมีลักษณะกลม ขนาดกว้างยาวประมาณ 4 มม. ภายในผลแบ่งเป็น 3 ช่อง โดยมีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อผลแก่จะแตกตามตะเข็บ ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนและขรุขระ
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เมล็ด ต้น ใบ
สรรพคุณทางยา :
- เมล็ด ช่วยขับพยาธิเส้นด้ายหรือแซ่ม้า หากรับประทานร่วมกับสุราจะช่วยเป็นยาขับโลหิตสำหรับประจำเดือนที่เป็นลิ่มหรือเป็นก้อนได้ดี อีกทั้งช่วยแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอยได้
- ต้นและใบสด มีสรรพคุณช่วยเพิ่มและขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยแก้โรคนิ่วและหนองในได้ดี อีกทั้งยังช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้อาการท้องผูก บรรเทาปวด แก้อาการห้อเลือดและรักษาโรคหูน้ำหนวกได้
วิธีการใช้ :
- ฆ่าแมลงกินฟัน คั่วเมล็ดให้เกรียม บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันยาง แล้วชุบสำลีอุดฟันที่เป็นรูทิ้งไว้ 1-2 วัน
- ขับน้ำนม นำกุ๋ยช่ายไปปรุงอาหารโดยเฉพาะแกงเลียง
- แก้โรคนิ่ว และหนองใน ตำต้นและใบสดให้ละเอียด ผสมกับสุราและใส่สารส้มเล็กน้อย กรองเอาแต่น้ำมาดื่มรับประทาน 1 ถ้วยชา
- บรรเทาอาการปวด ฟกช้ำ และแก้อาการห้อเลือด ตำใบสดให้ละเอียดพอกบริเวณแผล
- แก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ต้มเมล็ดแห้งรับประทาน
- รักษาโรคหูน้ำหนวก คั้นน้ำจากใบสดที่ตำละเอียดแล้วทาภายในรูหู
- แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และแก้ท้องผูก ตำใบสดให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม หรือนำใบไปประกอบอาหารรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
กุยช่ายมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น
.