พริกไทย

ชื่อสมุนไพร : พริกไทย
ชื่อเรียกอื่นๆ : พริกน้อย (ภาคเหนือ), พริกไทยล่อน, พริก (ใต้), พริกขี้นก และพริกไทยดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper nigrum  L.
ชื่อสามัญ : Pepper, Black Pepper
วงศ์ :  PIPERACEAE

PT3

พริกไทยถือเป็นเครื่องเทศรสเผ็ดชนิดหนึ่งที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวันมาอย่างช้านาน จุดประสงค์หลักคือการแต่งกลิ่นในอาหาร ทำให้อาหารมีรสชวนกิน เมนูอาหารที่ต้องใส่พริกไทย ได้แก่ คั่วกลิ้ง แกงเลียง โดยกลิ่นหอมที่อยู่ในพริกไทยมาจากน้ำมันหอมระเหย ( Volatile Oil) อีกทั้งพริกไทยยังมีคุณสมบัติในการถนอมอาหาร ทำให้สามารถเก็บอาหารไว้ได้นานกว่าปกติโดยไม่เสื่อมเสีย นอกจากนี้พริกไทยยังถูกนำมาใช้เป็นยา ซึ่งปรากฎอยู่ในตำรับยา อาทิเช่น ตำรับยาแก้ซาง ตำรับยาแก้ริดสีดวง ตำรับยาแก้จุกเสียด ตำรับยาแก้กษัย ตำรับยาเลือด ตำรับยาแก้ทางเสมหะ หอบหืด จากการศึกษา พบว่า พริกไทยมีส่วนช่วยให้ระบบการดูดซึมอาหารและตัวยาของร่างกายดีขึ้น การใช้ขมิ้นชันร่วมกับพริกไทยจะส่งผลให้พริกไทยออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารได้ดีขึ้น  สารสำคัญที่อยู่ในพริกไทย คือ สารพิเพอรีน (Piperine) สารนี้จะช่วยกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารหลั่งน้ำย่อยมาย่อยแป้ง ไขมัน และโปรตีน  เพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุเซเลเนียม วิตามินบี เบต้าแคโรทีน เคอร์คูมิน รวมทั้งสารอาหารอื่นๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่เป็นสารให้ความร้อน มีส่วนช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี เพิ่มการเผาผลาญอาหารทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากขึ้น

 PT6

ลักษณะสมุนไพร :
พริกไทยจัดเป็นต้นไม้ประเภทไม้เลื้อยที่มีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย มีความสูงปานกลางอยู่ประมาณ 5 เมตร ถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ประมาณ 4 ปี ลักษณะลำต้นเป็นข้อและป้องโดยมีรากเล็กๆเกิดขึ้น สามารถที่จะช่วยยึดเกาะ โดยรากฝังแน่นในดินอยู่ประมาณ 3-6 ราก แต่ละรากมีรากฝอยอยู่ ลักษณะมีสีเขียวเข้ม ใบใหญ่คล้ายใบโพธิ์ ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือวงรี ปลายใบแหลม โคนใบกลมมนหรือแหลมเล็กน้อย ขนาดกว้าง 3.5 – 6 ซม. ขนาดยาว 7 – 10 ซม. มีเส้นใบตรงบริเวณโคนใบจำนวน 3 – 5 เส้น พริกไทยมีดอกขนาดเล็ก ลักษณะออกเป็นช่อและตรงข้ามกับใบ ตามข้อเป็นพวง รังไข่มีลักษณะกลม ปลายเกสรแยก 3 – 6 แฉก ช่อดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้ จำนวน  2 อัน ลักษณะเมล็ดเป็นผลรูปทรงกลมติดกันเป็นพวงมีขนาดประมาณ 4 – 5 ซม. พริกไทยที่แก่แล้วจะมีเมล็ดภายในสีดำ มีจำนวน 2 เมล็ด ของเมล็ดแห้งดำจำนวน 100 เมล็ด มีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 กรัม

PT5

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ, ผล, ดอก และเมล็ด
สรรพคุณทางยา :

  1. ใบแก้ลมจุกเสียดแน่น ท้องอืดเฟ้อ
  2. ผล นำมาเป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นอาหาร
  3. ดอก แก้ตาแดง เนื่องจากความดันโลหิตสูง และ ถนอมอาหารหลายชนิด เช่น มะม่วงดอง
  4. เมล็ด ใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ย่อยพิษตกค้างที่ไม่สามารถย่อยได้ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับลม ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้ลมอัมพฤกษ์ ในเมล็ดพริกไทยยังมีสารสำคัญซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็ง และมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท

PT2

 PT1

วิธีการใช้ :

  1. แต่งกลิ่นอาหาร นำผลมาตากแห้งและบดเป็นผง ใส่ปรุงรส แต่งกลิ่นอาหาร
  2. แก้ตาแดง นำดอกมาตากแห้งและนำมาต้มกับน้ำ รับประทานน้ำต้มดอก
  3. ช่วยย่อยอาหาร ย่อยพิษตกค้างที่ไม่สามารถย่อยได้ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับลม ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้ลมอัมพฤกษ์ ป้องกันมะเร็ง กระตุ้นประสาท นำเมล็ดมาประกอบอาหาร หรือ นำมาบดให้เป็นผง เป็นพริกไทยป่น 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำอุ่น 1 ถ้วย ดื่มเป็นน้ำต้ม

 PT4

ถิ่นกำเนิด :
พริกไทยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศศรีลังกา อินเดีย และไทย

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy