ชื่อสมุนไพร : มะม่วงหิมพานต์
ชื่อเรียกอื่นๆ : กะแตแก (มลายู-นราธิวาส), กายี (ตรัง), ตำหยาว, ท้ายล่อ, ส้มม่วงชูหน่วย (ภาคใต้), นายอ (มลายู-ยะลา), มะม่วงกาสอ (อุตรดิตถ์), มะม่วงกุลา, มะม่วงลังกา, มะม่วงสินหน, มะม่วงหยอด (ภาคเหนือ), มะม่วงทูนหน่วย, ส้มม่วงทูนหน่วย (สุราษฎร์ธานี), มะม่วงยางหุย, มะม่วงเล็ดล่อ (ระนอง), มะม่วงไม่รู้หาว, มะม่วงสิโห (เชียงใหม่), มะโห (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ยาโงย และ ยาร่วง (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anacardium occidentale L.
ชื่อสามัญ : Cashew nut tree
วงศ์ : ANACARDIACEAE
มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง และประกอบไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน A,วิตามิน B, วิตามิน E, เกลือแร่, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, เหล็ก เป็นต้น อีกทั้งยังมีโปรตีนที่ร่างกายย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายและกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่มีผลดีต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้เอง จึงนิยมนำเนื้อภายในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาทำเป็นอาหารว่าง และประกอบอาหารจานหลัก มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศที่ร้อนชื้นและอบอุ่น จึงเป็นพืชที่ค่อนข้างปลูกได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก นอกจากนี้ยังสามารถนำส่วนอื่นมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายส่วน เช่น นำผลสุกไปหมักเป็นไวน์ น้ำส้มสายชู หรือเครื่องดื่ม เป็นต้น ในด้านของสรรพคุณการรักษาโรคมะม่วงหิมพานต์สามารถโรคเกี่ยวกับผิวหนังได้ดี เช่น รักษาหูด รักษากลากเกลื้อน หรือแก้อาการเนื้อหนังชาในโรคเรื้อน เป็นต้น รวมทั้งยังสามารถใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้ดีอีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 12 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกเรียบ มีกิ่งแขนงแตกออกเป็นพุ่มแน่นแบบไม่สม่ำเสมอ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนแบบเกลียว ลักษณะใบเป็นรูปไข่กลับ โคนใบแหลม ปลายใบกลม ขนาดยาว 4-22 เซนติเมตร กว้าง 2-15 เซนติเมตร ใบหนา ผิวมันลื่น ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงหรือช่อเชิงหลั่น ดอกมีสีขาวหรือสีเหลืองนวลและจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพู มีกลิ่นหอม แต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบ 5 กลีบ ปลายกลีบเรียวแหลม ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ 8-10 อัน ผลมีเปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียวเป็นรูปไตหรือรูปนวมนักมวย มีสีน้ำตาลปนเทา ขนาดยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมล็ดห่อหุ้มด้วยเปลือกสองชั้น ซึ่งส่วนนี้อาจมีผลด้านการแพ้ต่อคนบางกลุ่ม ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูประฆังคว่ำหรือคล้ายผลชมพู่ ขนาดผลยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร อวบน้ำ ผลอ่อนมีสีเขียวหรือเหลืองอมชมพู เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง มีกลิ่นหอมและนำมารับประทานได้ มะม่วงหิมพานต์ขยายพันธุ์ด้วยการการเสียบยอดแบบเสียบลิ่ม
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ยางจากผลสดที่ยังไม่สุก, ยางจากต้น และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ยางจากผลสด ใช้เป็นยารักษาหูด
- เมล็ด แก้กลากเกลื้อน รักษาโรคผิวหนัง และแก้เนื้อหนังชาในโรคเรื้อน
- ยางจากต้น ใช้เป็นยารักษาหูด ทำลายตาปลา และแก้เลือดออกตามไรฟัน
วิธีการใช้ :
- รักษาหูด นำยางจากผลสดที่ยังไม่สุกที่เด็ดออกมาจากต้นใหม่ๆ มาทาตรงบริเวณที่เป็นหูด โดยสามารถทาซ้ำได้จนกว่าจะหาย
- รักษาตาปลา นำยางจากต้นสดมาทาตรงบริเวณตาปลา โดยสามารถทาบ่อยๆได้จนกว่าตาปลาหรือเนื้อที่ด้านเป็นบุ๋มโตจะหาย
ถิ่นกำเนิด :
มะม่วงหิมพานต์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของอเมริกา หรือแถบเขตแล้งชายฝั่งทะเลตอนกลางและตอนเหนือของบราซิล
.