รกฟ้า

ชื่อสมุนไพร : รกฟ้า
ชื่อเรียกอื่นๆ : เซือก, เซียก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ฮกฟ้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), เชือก (สุโขทัย), กอง (สุโขทัย, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, สงขลา), สพิแคล่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชะลีก (เขมร-บุรีรัมย์, เขมร-พระตะบอง), จะลีก (เขมร-บุรีรัมย์), คลี้ (ส่วย-สุรินทร์), ไฮ่หุ้นกร่ะ, เคาะหนังควาย (ปะหล่อง) และ หกฟ้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia elliptica Willd.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : COMBRETACEAE

RF4

รกฟ้าจัดเป็นพรรณไม้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทุกภาคของประเทศไทย โดยพบได้ทั่วไปตามป่าผลัดใบและป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 – 1,000 เมตร  เปลือกต้น ใช้ย้อมสีผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ การย้อมสีจากเปลือกต้นรกฟ้า ทำได้ด้วยการแช่เปลือกต้นรกฟ้าในปริมาณพอสมควร ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน แล้วตั้งไฟต้มให้เดือดจนเห็นว่าสีออกหมดดีแล้ว หลังจากนั้นให้เทน้ำย้อมใส่ลงในอ่างย้อมหมักแช่ไว้ 1 คืน นำเปลือกไม้ไปผึ่งแดดให้แห้ง เก็บไว้ใช้ต่อไป โดยสีเปลือกไม้รกฟ้านี้ถ้าถูกต้มจะกลายเป็นสีดำ ไม้รกฟ้าเป็นเนื้อแข็ง ขัดชักเงาได้ดี สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ด้ามเครื่องมือต่างๆ เครื่องกลึงและแกะสลัก หรือใช้ทำพื้นบ้าน ฝาบ้าน รอด ตง คาน เสา ไม้บุผนัง ฯลฯ  เปลือกต้นให้น้ำฝาด คนเก่าแก่ดั้งเดิมของไทยนิยมนำมาใช้สำหรับฟอกหนังสัตว์

 RF1

ลักษณะสมุนไพร :
รกฟ้าเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาตรงเรือนยอดของต้น แน่นทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาค่อนข้างดำและแตกเป็นร่องลึก และเป็นสะเก็ดทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบเป็นสีเขียว ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้าน ปกคลุมอยู่ประปราย เมื่อใบแก่ขึ้นขนนี้จะหลุดร่วงไป ลักษณะของใบรกฟ้าเป็นรูปมนรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเป็นติ่งทู่ๆ ยาวออกมาเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านหลังใบจะมีต่อมคล้ายหูดประมาณ 1-2 ต่อม เส้นผ่านศูนย์กลางของต่อมมีขนาด 1.5-2.5 มิลลิเมตร ดอกจะแตกออกเป็นสีขาวสะพรั่งเต็มต้น โดยจะออกดอกเป็นช่อๆ และมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2.5 มิลลิเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง เมื่อดอกย่อยบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรองกลีบดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนทั้งสองด้าน กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเขียวแกมขาว ปลายแยกเป็น 5 พู ผลเป็นแบบผลแห้งและแข็ง ผลมีลักษณะเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีปีกหนาและเป็นมันกว้างกว่าผลประมาณ 5 เซนติเมตร มีเส้นปีกลากจากแกนกลางไปยังขอบปีกในแนวราบเป็นจำนวนมาก ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด

 RF2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือก, ราก และ ทั้งต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. เปลือก ยาบำรุงหัวใจ ยารักษาอาการท้องร่วง อาเจียน ยาขับปัสสาวะ ยาห้ามเลือด และใช้ชะล้างบาดแผล
  2. ราก ยาขับเสมหะ
  3. ทั้งต้น ยาแก้กระษัยเส้น

 RF3

วิธีการใช้ :                                     

  1. ยาบำรุงหัวใจ ยารักษาอาการท้องร่วง อาเจียน ยาขับปัสสาวะ นำเปลือกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. ยาขับเสมหะ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  3. ยาแก้กระษัยเส้น  นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
รกฟ้าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทุกภาคของประเทศไทย

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy