ชื่อสมุนไพร : ตะคร้ำ
ชื่อเรียกอื่นๆ : อ้อยน้ำ (จันทบุรี), กะตีบ, แขกเต้า, ค้ำ, หวีด (ภาคเหนือ), คร้ำ, ตำคร้ำ (ไทย), เก๊าค้ำ, ไม้หวิด, ไม้ค้ำ (คนเมือง), ไม้ค้ำ (ไทใหญ่), ปีซะออง, ปิชะยอง (กะเหรี่ยง-จันทบุรี), กระโหม๊ะ (ขมุ), ลำคร้ำ, ลำเมาะ (ลั้วะ) และ เจี้ยนต้องแหงง (เมี่ยน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garuga pinnata Roxb.
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : BURSERACEAE
ตะคร้ำเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่ราบตามป่าโปร่ง ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้งในที่ค่อนข้างราบและใกล้ลำห้วยทั่วไป ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณชื้น ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-800 เมตร ชาวขมุจะใช้เปลือกต้นตะคร้ำนำมาขูดใส่ลาบ ใบใช้มัดเสาเอกของบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลในการช่วยค้ำชู เนื้อไม้ตะคร้ำ สามารถนำมาใช้ในการสร้างบ้านเรือ ทำเครื่องตบแต่งบ้าน เครื่องเรือน ทำฝา หีบหรือลังใส่ของได้ ผลสุกใช้รับประทานได้ และผลใช้ย้อมตอกให้สีดำ
ลักษณะสมุนไพร :
ตะคร้ำเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านสาขารอบๆ เรือนยอดของต้น โคนต้นเป็นพูพอน ตามกิ่งอ่อนและก้านช่อดอกมีขนสีเทาขึ้นปกคลุมกระจายอยู่ทั่วไป และมีรอยแผลใบปรากฏอยู่ตามกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นสะเก็ดหรือเป็นหลุมตื้นๆ ทั่วไป ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียนสลับเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ก้านช่อหนึ่งจะมีใบย่อยประมาณ 7-13 ใบ ออกเรียงตรงข้ามหรือทแยงกันเล็กน้อย และยาวประมาณ 10-12 นิ้ว ตรงปลายก้านจะมีใบเพียงใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบสอบหรือหยักเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือมนเบี้ยว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียว มีเส้นแขนงใบประมาณ 10-12 คู่ ออกดอกเป็นช่อใหญ่บริเวณปลายกิ่งหรือส่วนยอดของต้น ช่อดอกยาวประมาณ 6 นิ้ว ดอกย่อยมีจำนวนมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์ ลักษณะของดอกเป็นรูประฆัง กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบดอกเป็นสีครีม สีเหลือง สีเหลืองอ่อน หรือสีชมพู มี 5 กลีบ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม อวบน้ำ มีเมล็ดอยู่ภายใน สีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีเนื้อนุ่มแต่ภายในมีผิวแข็งหุ้ม
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกต้น, ผล, ต้น และ ใบ
สรรพคุณทางยา :
- เปลือกต้น ยาแก้บิด แก้ท้องร่วง ยาแก้อาการปวดท้อง ยาทาห้ามเลือด ล้างแผลเรื้อรังได้ดีมาก ช่วยบำรุงครรถ์ แก้อักเสบ บวม ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ฝีหรือตุ่ม ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น
- ผล ยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกระเพาะอาหาร
- ต้น แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ
- ใบ ยารักษาโรคหืด
วิธีการใช้ :
- ยาแก้บิด แก้ท้องร่วง นำเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินหรือนำมาบีบเพื่อเอาน้ำกินเป็นยา
- ยาแก้อาการปวดท้อง นำเปลือกต้นใช้ฝนใส่น้ำร่วมกับเปลือกต้นมะกอกและตะคร้อ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง
- ช่วยบำรุงครรถ์ นำเปลือกต้นใช้ต้มอาบสำหรับสตรีหลังคลอด
- ยาทาห้ามเลือด นำเปลือกต้นใช้ภายนอกเป็นยาทาห้ามเลือด
- ล้างแผลเรื้อรัง นำเปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำล้างใช้ล้างแผลเรื้อรังได้ดีมาก
- แก้อักเสบ บวม ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ฝีหรือตุ่ม นำเปลือกต้นตะคร้ำ นำมาตำพอกหรือต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้อักเสบ บวม ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ฝีหรือตุ่ม
- ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น นำเปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำ ให้เด็กทารกอาบ ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น
- ยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกระเพาะอาหาร นำผลมารับประทาน
- แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ นำต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดตา แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ
- ยารักษาโรคหืด นำน้ำคั้นจากใบตะคร้ำ นำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยารักษาโรคหืด
ถิ่นกำเนิด :
ตะคร้ำเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.