ชื่อสมุนไพร : กาหลง
ชื่อเรียกอื่นๆ : กาแจ๊ะกูโด (มลายู-นราธิวาส), กาหลง (ภาคกลาง), โยธิกา (นครศรีธรรมราช), ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง) และเสี้ยวน้อย (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia acuminata L.
ชื่อสามัญ : Snowy Orchid Tree
วงศ์ : Leguminosae – Caesalpinioideae
กาหลงเป็นพืชในวงศ์เดียวกับคูน จามจุรี และทองกวาว มักเจริญเติบโตได้ดีในเขตป่าเมืองร้อนของหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งในประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทยขึ้นได้ดีในทุกภาค โดยมากจะพบในป่าเบญจพรรณหรือที่ราบลุ่มทั่วไป ซึ่งมีดินร่วนซุยและอุดมสมบูรณ์ ชอบอากาศร้อนชื้น กาหลงสามารถออกดอกได้ตลอดปีและมีกลิ่นหอมขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการตอนกิ่งหรือเพาะเมล็ด
กาหลงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากดูแลรักษาและจัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย มีความสวยงาม เหมาะสำหรับตกแต่งอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้กาหลงยังเป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคได้ด้วย โดยสามารถใช้เป็นยาแก้ไอช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด และแก้โรคสตรี
ลักษณะสมุนไพร :
กาหลงเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-3 เมตร เปลือกเรียบสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุม กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบมีสีเขียว เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันตามกิ่ง ลักษณะใบเป็นทรงรีคล้ายรูปไข่ ขนาดกว้าง 9-13 ซม. ยาว 10-14 ซม. โคนใบคล้ายรูปหัวใจ ขอบเรียบ ก้านใบยาว 3-4 ซม. แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนเล็กละเอียดสีน้ำตาลเทา มีเส้นใบ 9-10 เส้น ปลายเส้นกลางใบมีติ่งเล็กแหลม มีขนหูใบเรียวแหลมยาวประมาณ 1 ซม. และมีแท่งรยางค์สั้นๆ อยู่ระหว่างหูใบ ดอกออกเป็นช่อ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 3-10 ดอก ก้านดอกยาว 0.5-1.5 ซม. ที่โคนดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม 2-3 ใบ ดอกมีสีขาวขนาดใหญ่ รูปรี มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เริ่มออกดอกในช่วงฤดูฝน ลักษณะดอกตูมเป็นรูปกระสวย ยาว 2.5-4 ซม. ดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 ซม. แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบซ้อนเหลื่อมกัน ปลายเรียวแหลม และมีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายมน โคนสอบ กว้าง 2 ซม. ยาว 4-6 ซม. ในดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน แต่ละอันยาวไม่เท่ากัน อับเรณูมีสีเหลืองสด เกสรเพศเมียมีเพียง 1 อัน ยาว 1 ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลม ผลเป็นฝักแคบแบน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 9-15 ซม. ปลายและโคนฝักสอบแหลม ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก เรียงกันตามยาวเป็นช่องๆมีฝักละประมาณ 5-10 เมล็ด ลักษณะแบนสีน้ำตาล
กาหลงเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่ต้องการปุ๋ยมาก ชอบแดดจัดและขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการตอนกิ่งและเพาะเมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก ใบ ราก ลำต้น
สรรพคุณทางยา :
- ดอก ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ลดความดันของโลหิตสูง แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ และแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด
- ใบ มีรสเฝื่อนหวาน มีฤทธิ์ในการช่วยรักษาแผลในจมูก
- ราก มีรสเฝื่อนเปรี้ยว ช่วยแก้ไอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ขับเสมหะ และแก้โรคบิดได้
- ลำต้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคสตรี แก้ลักปิดลักเปิดและแก้เสมหะ
เนื่องจากต้นกาหลงเป็นต้นไม้ที่มีขนอ่อนๆปกคลุมบริเวณใบและกิ่ง ซึ่งมักจะขึ้นอยู่ประปรายรอบบริเวณ ดังนั้นการนำมาใช้งานจะต้องระมัดระวังไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้
ถิ่นกำเนิด :
กาหลงมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ไม่สามารถระบุพื้นที่ได้ชัดเจนเพราะมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง โดยสันนิษฐานว่าอาจมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
.