ชื่อสมุนไพร : จันทน์เทศ
ชื่อเรียกอื่นๆ : จันทน์บ้าน (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myristica fragrans Houtt.
ชื่อสามัญ : Nutmeg tree
วงศ์ : MYRISTICACEA
จันทน์เทศจัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่ผลัดใบ สามารถเจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด โดยหากเป็นดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุสูงจะยิ่งเติบโตได้ดียิ่งขึ้น สามารถพบต้นจันทน์เทศได้มากในพื้นที่เขตร้อนชื้นโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและทางภาคใต้ของไทย และสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สมุนไพรชนิดนี้สามารถนำมาใช้บำรุงร่างกายได้หลายส่วน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเมล็ดหรือเยื่อหุ้มเมล็ดที่มีสีแดง ถือเป็นส่วนที่นิยมนำเอามาใช้ประโยชน์มากที่สุด สรรพคุณการรักษาโรคของต้นจันทน์เทศ เช่น ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ช่วยกระจายเลือดลม บำรุงกำลัง แก้อาการหอบหืด แก้อาการปวดศีรษะ แก้ดีซ่าน แก้อาการร้อนใน ขับเสมหะ แก้อาการปวดมดลูก รักษาม้ามหรือไตพิการ แก้ตับพิการ บำรุงน้ำดี ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร ช่วยระงับอาการท้องร่วง แก้อาการท้องร่วงเรื้อรัง แก้ผื่นคัน ช่วยบำรุงผิวหนัง บำรุงตับและปอด ช่วยสมานบาดแผลภายใน เป็นต้น
ลักษณะสมุนไพร :
จันทน์เทศจัดเป็นสมุนไพรไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ ผิวเรียบ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ขนาดกว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน เนื้อใบแข็ง ผิวเรียบ หลังใบเป็นมัน ก้านใบยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตร ดอกออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทคว่ำ ปลายกลีบแยกออกเป็น 4 แฉก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ ผลสดมีลักษณะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม คล้ายกับลูกสาลี่ ขนาดยาว 3.5-5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบ มีสีเหลืองอ่อนหรือสีแดงอ่อน ฉ่ำน้ำ เมื่อผลแก่จะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในผลจะพบเมล็ดลักษณะกลม สีน้ำตาล เปลือกแข็ง ขนาดยาว 2-3 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร อยู่ภายใน ส่วนเมล็ดจันทน์เทศหรือลูกจันทน์จะมีเยื่อหุ้มหรือรกหุ้มเมล็ดสีแดงส้มและมีกลิ่นหอม ต้นจันทน์เทศสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุสูง พบได้มากในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและทางภาคใต้ของไทย และนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล, ดอก, แก่น, ราก, เมล็ด และ เปลือกเมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ผล ช่วยขับลม และแก้อาการสะอึก
- ดอก ช่วยขับลม
- แก่น แก้ไข้ บำรุงตับและปอด
- ราก ช่วยขับลม เครื่องเทศ ช่วยให้เจริญอาหาร
- เมล็ด ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ช่วยกระจายเลือดลม บำรุงกำลัง แก้อาการหอบหืด แก้อาการปวดศีรษะ แก้ดีซ่าน แก้อาการร้อนใน ขับเสมหะ แก้อาการปวดมดลูก รักษาม้ามหรือไตพิการ แก้ตับพิการ บำรุงน้ำดี ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร ช่วยระงับอาการท้องร่วงแบบปกติและแบบเรื้อรัง แก้ผื่นคัน และช่วยบำรุงผิวหนัง
- เปลือกเมล็ด แก้ท้องขึ้น แก้อาการปวดท้อง และช่วยสมานบาดแผลภายใน
วิธีการใช้ :
- แก้ลม ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ นำดอกจันทน์มาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำดื่มครั้งเดียว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน
- ใช้เป็นยาสมานลำไส้ แก้กระเพาะและลำไส้ไม่มีแรง หรือขับถ่ายบ่อย นำลูกจันทน์ 1 ลูก ผสมกับ ยูเฮีย 5 กรัม บดเป็นผง แล้วใช้รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม
ถิ่นกำเนิด :
ต้นจันทน์เทศมีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย
.