ชื่อสมุนไพร : ลูกหว้า
ชื่อเรียกอื่นๆ : หว้า, หว้าป่า, หว้าขาว, หว้าขี้นก, หว้าขี้แพะ, จามาน และ จามูน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (L.) Skeels.
ชื่อสามัญ : Jambolan Plum, Java Plum และ Jambul
วงศ์ : MYRYTACEAE
ลูกหว้าเป็นผลของต้นหว้าซึ่งเป็นต้นไม้พันธุ์พระราชทานและเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งยังถือว่าต้นหว้าเป็นไม้มงคลในเรื่องของความสำเร็จและชัยชนะตามความเชื่อ สามารถพบได้ตามทั่วไปในป่าดิบชื้นและป่าผลัดใบตั้งแต่ระดับใกล้น้ำทะเลจนถึงระดับความสูง 1,100 เมตร ลูกหว้าจัดเป็นผลไม้ที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันมากนัก แต่ผลไม้ชนิดนี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเนื่องจากลูกหว้าอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่างๆไม่ว่าจะเป็น วิตามินซี ฟอสฟอรัส แคลเซียม และคาร์โบไฮเดรต ซึ่งถือได้ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก คนส่วนใหญ่นิยมนำผลสุกมารับประทานเป็นผลไม้ เมื่อสุกจะมีสีม่วงเข้มจนถึงดำคล้ายองุ่น รสชาติจะออกเปรี้ยวอมหวานและมีรสฝาดเล็กน้อย มักนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือแปรรูปเป็นเยลลี่ และแยม นอกจากนี้ลูกหว้ายังมีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคได้ดี เนื่องจากภายในมีสารกลุ่มแอนโธไซยานิน (ไซยานิดิน) กรดเอลลาจิก และกรดเฟอรูลิก ซึ่งสารกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ จึงส่งผลต่อการต้านฤทธิ์ของสารก่อมะเร็ง โดยพบว่า สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว
ลักษณะสมุนไพร :
ลูกหว้าเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงมากประมาณ 10-35 เมตร ลักษณะของลำต้นตรง เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามลักษณะรูปไข่หรือรูปทรงรีมีความกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ใบมีจุดน้ำมันที่บริเวณขอบใบ ดอกออกเป็นช่อมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนหรือออกที่ซอกใบหรือปลายยอด ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย มีกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบและมีกลีบดอกจำนวน 4 กลีบ เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ออกดอกและกลายเป็นผลประมาณเดือน ธันวาคมถึงมิถุนายน ผลเป็นผลสดมีสีม่วงดำ ลักษณะรูปรีแกมรูปไข่ มีความฉ่ำน้ำ ผิวเรียบมัน ขนาด 1 เซนติเมตร ผลแก่ราวเดือนพฤษภาคม มีเมล็ดจำนวน 1 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปไข่
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกลำต้น, ใบ, ผล และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- เปลือกลำต้น แก้บิด ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย แก้คอเปื่อย เป็นเม็ดตามลิ้นและคอ แก้อาการน้ำลายเหนียวข้น
- ใบ รักษาอาการบิด มูกเลือด ท้องเสีย
- ผล แก้ท้องร่วงช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของเซลล์ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง บรรเทาอาการของวัณโรค และโรคปอด
- เมล็ด รักษาอาการบิด มูกเลือด ท้องเสีย รักษาโรคเบาหวาน รักษาโรคผิวหนัง
วิธีการใช้ :
- แก้บิด ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย แก้คอเปื่อย เป็นเม็ดตามลิ้นและคอ แก้อาการน้ำลายเหนียวข้น นำเปลือกลำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาอาการบิด มูกเลือด ท้องเสีย นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ท้องร่วงช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของเซลล์ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง บรรเทาอาการของวัณโรค และโรคปอด นำผลมารับประทานสดๆ
- รักษาอาการบิด มูกเลือด ท้องเสีย รักษาโรคเบาหวาน นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาโรคผิวหนัง นำเมล็ดมาบดแล้วทาบริเวณที่เป็น
ถิ่นกำเนิด :
ลูกหว้าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบังคลาเทศ, อินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน, ศรีลังกา, ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย
.