ชื่อสมุนไพร : ไทรย้อย
ชื่อเรียกอื่นๆ : ไทรพัน (ลำปาง), ไทร (นครศรีธรรมราช), ไทรกระเบื้อง (ประจวบคีรีขันธ์), ไฮ (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ไทรย้อยใบแหลม (กรุงเทพฯ), จาเรย (เขมร) และ ไซรย้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus benjamina Linn.
ชื่อสามัญ : Golden Fig, Weeping Fig, Weeping or Java Fig, Weeping Chinese Bonyan, Benjamin Tree, Benjamin’s fig และ Ficus Tree
วงศ์ : MORACEAE
ไทรย้อยเป็นต้นไม้ใบแหลมเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นกระจายในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา และบางครั้งอาจพบได้ตามเขาหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร ในป่าธรรมชาติ ต้นไทรนับเป็นที่อยู่อาศัยและผลยังเป็นแหล่งอาหารชั้นยอดของสัตว์ป่าหลายชนิด เพราะต้นไทรมีลำต้นแผ่กว้าง เต็มไปด้วยหลืบโพรง ทั้งนกนานาชนิด กระรอก ชะนี ลิง หรือแม้แต่สัตว์ใหญ่อย่าง เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ต่างก็ชอบรับประทานผล ต้นไทรย้อยนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีทรงพุ่มแผ่กว้างให้ร่มเงาได้ดี ต้องมีเนื้อที่ในการปลูกพอสมควร แต่ในปัจจุบันวงการไม้ประดับได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะย่อส่วนต้นไม้ให้มีขนาดเล็กลง การนำไม้ป่าทั้งหลายรวมทั้งไทรย้อยมาปลูกเป็นไม้ประดับจึงสะดวกมากขึ้น
ลักษณะสมุนไพร :
ไทรย้อยเป็นไม้ยืนต้นหรือพุ่มไม่ผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกเป็นพุ่มหนาทึบและแผ่กิ่งก้านสาขาทิ้งใบห้อยย้อยลง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล กิ่งก้านห้อยย้อยลง มีลำต้นที่สูงใหญ่ ตามลำต้นจะมีราอากาศแตกย้อยลงสู่พื้นดินเป็นจำนวนมากดูสวยงาม รากอากาศเป็นรากขนาดเล็ก เป็นเส้นสีน้ำตาล ลักษณะรากกลมยาวเหมือนเส้นลวดย้อยลงมาจากต้น ไทรย้อยแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีลักษณะของใบที่แตกต่างกันเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่ บางต้นลักษณะของใบเป็นรูปกลมป้อม ส่วนบางพรรณก็เป็นรูปยาวรี แต่โดยทั่วไปแล้วใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-11 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก เกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปทรงกลมคล้ายผล ออกเป็นคู่จากจ้างกิ่ง ไม่มีกลีบดอก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรี ออกผลเป็นคู่ๆ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม สีน้ำตาล สีชมพู สีส้มแดง หรือสีม่วงดำเมื่อแก่ ไร้ก้าน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : รากอากาศ
สรรพคุณทางยา :
- รากอากาศ ยาแก้กาฬโลหิต บำรุงโลหิต แก้ตกโลหิต ยาแก้กระษัย ยาบำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์ ช่วยแก้อาการท้องเสีย ยาขับพยาธิ ยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะให้คล่อง แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะมีสีต่างๆ ช่วยแก้ไตพิการ ช่วยแก้อาการอักเสบหรือลดการติดเชื้อ เช่น ฝีหรือรอยฟกช้ำ
วิธีการใช้ :
- ยาแก้กาฬโลหิต บำรุงโลหิต แก้ตกโลหิต ยาแก้กระษัย ยาบำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์ ช่วยแก้อาการท้องเสีย ยาขับพยาธิ ยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะให้คล่อง แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะมีสีต่างๆ ช่วยแก้ไตพิการ ช่วยแก้อาการอักเสบหรือลดการติดเชื้อ เช่น ฝีหรือรอยฟกช้ำ นำรากอากาศต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ไทรย้อยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อน พบได้ที่อินเดีย เนปาล ปากีสถาน จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
.