ชื่อสมุนไพร : โมกหลวง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ยางพุด, มูกขาว (เลย), พุด (กาญจนบุรี), พุทธรักษา (เพชรบุรี), มูกมันน้อย, มูกมันหลวง, มูกหลวง, โมกเขา, โมกทุ่ง (ภาคเหนือ), โมกใหญ่ (ภาคกลาง), หนามเนื้อ (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ซอทึ, พอแก, พ้อแก และ ส่าตึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum (L.) Kurz
ชื่อสามัญ : Kurchi, Easter Tree, Conessi Bark และ Tellicherry Tree
วงศ์ : APOCYNACEAE
โมกหลวงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ โดยมีเนื้อไม้สีขาวละเอียด มีความเหนียว ไสกบแต่งได้ง่าย นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ เช่น หวี ตะเกียบ โต๊ะ ตู้ กรอบรูป ไม้เท้า ไม้บรรทัด ไม้ฉาก พัด หรือใช้ทำของเล่นสำหรับเด็ก ซึ่งเปลือกต้นมีสารอัลคาลอยด์ “โคเนสซีน” (Conessine) อยู่ประมาณ 0.4% ของอัลคาลอยด์ทั้งหมด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด สามารถใช้แก้โรคบิดได้ และเคยนำมาใช้เป็นยารักษาโรคบิดอยู่ในระยะหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมีการใช้น้อยลง เนื่องจากพบฤทธิ์ข้างเคียงต่อระบบประสาท สารสกัดจากเมล็ด สามารถต้านการดูดซึมแป้งในลำไส้เล็กได้ ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase ทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูทดลองที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะทำการศึกษาในคนต่อไป
ลักษณะสมุนไพร :
โมกหลวงเป็นไม้พุ่มผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นชั้นนอกเป็นสีเทาอ่อนถึงสีน้ำตาล ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีซีด ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมมาก ใบเป็นใบเดี่ยวอออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขน ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกใกล้กับปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีดอกหลายดอก ช่อดอกห้อยลง ช่อดอกยาวประมาณ 4-1 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน เวียนซ้าย ผิวด้านนอกมีขนสีขาว เกสรเพศผู้ 5 อัน เชื่อมกับหลอดกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกจากกัน ยอดเกสรเชื่อมกัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ปลายแยก และมีขนสีขาว ผลเป็นฝัก ห้อยลงเป็นคู่โค้ง ฝักเป็นฝักแห้ง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ปลายฝักแหลม โคนฝักแบน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 18-43 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่เต็มที่จะแตกตามยาวเป็นตะเข็บเดียวอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดเรียงกันเป็นแถวอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดแบน เป็นสีน้ำตาล
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกต้น, ใบ, ผล, เมล็ดใน, กระพี้, แก่น และ ราก
สรรพคุณทางยา :
- เปลือกต้น แก้บิด แก้ไข้พิษ
- ใบ ขับไส้เดือนในท้อง
- ผล ขับโลหิต
- เมล็ดใน แก้ไข้
- กระพี้ ฟอกโลหิต
- แก่น แก้โรคกลากเกลื้อน
- ราก ขับโลหิต
วิธีการใช้ :
- แก้บิด แก้ไข้พิษ นำเปลือกต้นครึ่งกำมือ ผสมกับผลมะตูมแห้ง อย่างละเท่า ๆ กัน รวมกับเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน ตำให้เป็นผง ผสมน้ำผึ้ง ทำเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือใช้ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง
- ขับไส้เดือนในท้อง นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ขับโลหิต นำผลมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ไข้ นำเมล็ดในที่แห้งมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ฟอกโลหิต นำกระพี้ที่แห้งมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้โรคกลากเกลื้อน นำแก่นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ขับโลหิต นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
โมกหลวงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาถึงอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.