ชื่อสมุนไพร : เท้ายายม่อม
ชื่อเรียกอื่นๆ : บุกรอ (ตราด), สิงโตดำ (กรุงเทพฯ), นางนวล (ระยอง), ไม้เท้าฤาษี (ภาคกลาง), ท้าวยายม่อม และ ว่านพญาหอกหลอก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze
ชื่อสามัญ : East Indian Arrow Root
วงศ์ : TACCACEAE
เท้ายายม่อมเป็นพรรณไม้ล้มลุกขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือการแยกหัว ประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่างๆ และพบขึ้นหนาแน่นในบางพื้นที่ ยกเว้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าผลัดใบ ดินเป็นดินทราย และตามป่าชายหาด ดอกและยอดอ่อนนิยมนำมาต้มจิ้มกับน้ำพริกรับประทานได้ หรือนำยอดอ่อนมาผัดกับน้ำกะทิสด ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผัดกะทิเท้ายายม่อม” โดยนำน้ำกะทิสดไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนกะทิข้น จากนั้นให้นำยอดอ่อนใส่ลงไปผัดจนสุก รสชาติจะขมเล็กน้อย มีความหอมมันของกะทิ ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกกะปิอร่อยมาก แป้งจากหัวใช้เป็นเครื่องประทินผิว ลดสิวฝ้า ทำให้หน้าขาวได้ ด้วยการใช้แป้งเท้ายายม่อมผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้สักครู่แล้วค่อยล้างออก หรือนำมาใช้ผัดหน้าแทนแป้งฝุ่น
ลักษณะสมุนไพร :
เท้ายายม่อมเป็นไม้ล้มลุก ส่วนที่อยู่เหนือดินมีความสูงได้ถึง 1.5 เมตร มีหัวใต้ดินสะสมอาหาร ลักษณะของหัวเป็นรูปกลม กลมแบน หรือรูปรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว ผิวด้านนอกบางเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวเป็นสีขาวใส ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก เป็นรูปฝ่ามือ ปลายแยกออกเป็นแฉก 3 แฉก แต่ละแฉกขอบมีลักษณะเว้าลึก ใบรูปฝ่ามือมีขนาดกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ก้านใบรวมกาบใบยาวประมาณ 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบเป็นสีดำแกมเขียว ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม แทงช่อสูงออกมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ดอกจะออกที่ปลายยอด ก้านดอกเป็นสีม่วงอมเขียวมีลาย กลีบรวมเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอมม่วงเข้ม ปลายกลีบแหลม ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมหรือเป็นรูปทรงรี ปลายแหลมเรียว ผลห้อยลง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ที่ผิวเมล็ดมีลาย
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เหง้า, หัว และราก
สรรพคุณทางยา :
- เหง้า บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง
- หัว ชุ่มชื่นหัวใจ ร่างกายฟื้นฟูกลับมาแข็งแรง เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ร้อนใน และช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องเสียและบิด ใช้หยุดเลือดในกระเพาะและลำไส้ ช่วยห้ามเลือดได้ แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ แก้ผดผื่นคัน พอกฝีแผล ช้ำ ถอนพิษ
- ราก ยาแก้ไข้ ขับเสมหะ แก้ไส้เลื่อน แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ
วิธีการใช้ :
- บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง นำหัวมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ชุ่มชื่นหัวใจ ร่างกายฟื้นฟูกลับมาแข็งแรง เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ร้อนใน และช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องเสียและบิด ใช้หยุดเลือดในกระเพาะและลำไส้ ช่วยห้ามเลือดได้ แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ แก้ผดผื่นคัน พอกฝีแผล ช้ำ ถอนพิษ นำหัวมาบดเป็นแป้งมาแล้วละลายกับน้ำดิบ ใส่น้ำตาลกรวด ตั้งไฟกวนจนสุก ดื่มรับประทาน หรือ นำแป้งเท้ายายม่อมละลายกับน้ำแล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือ นำแป้งเท้ายายม่อมนำมานวดกับน้ำอุ่นให้พอเป็นยางเหนียวๆ แล้วใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น
- ยาแก้ไข้ ขับเสมหะ แก้ไส้เลื่อน แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
เท้ายายม่อมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก ไปจนถึงออสเตรเลีย
.