ชื่อสมุนไพร : หนุมานประสานกาย
ชื่อเรียกอื่นๆ : ว่านอ้อยช้าง และ ชิดฮะลั้ง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schefflera leucantha R. Vig.
ชื่อสามัญ : Edible-stemed Vine
วงศ์ : ARALIACEAE
หนุมานประสานกายจัดเป็นสมุนไพรไทยที่หลากสรรพคุณโดยสรรพคุณหลักๆนั้นจะเน้นการรักษาภูมิแพ้ หอบหืด แพ้อากาศ ขับเสมหะ อาเจียนเป็นเลือด วัณโรค โรคหลอดลมอักเสบ โรคช้ำใน แก้ร้อนใน ทาสมานแผล ห้ามเลือด และตกเลือดหลังจากการคลอดบุตร ซึ่งสามารถใช้ส่วนต่างๆของต้นได้ไม่ว่าจะเป็น ราก และ ใบ ทั้งยังมีกลิ่นหอมและรสหอมปร่าขมฝาดเล็กน้อยที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นที่มาของการนำมาทำเป็นยาใช้ภายนอกทั้งขี้ผึ้งหนุมานประสานกายและน้ำมันหนุมานประสานกายสำหรับทาและสูดดมบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกวิงเวียนศีรษะอีกทั้งยังมีสารสำคัญที่อยู่ในใบหนุมานประสานกายได้แก่กรดโอลิอิค (Oleaic Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวอีกด้วยนอกจากนั้นยังถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ของตำรับยาแผนไทยโบราณที่สามารถนำหนุมานประสานกายมาต้มกับน้ำดื่มรับประทานก่อนอาหาร 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งด้วยสมุนไพรไทย
ลักษณะสมุนไพร :
หนุมานประสานกายเป็นไม้พุ่มที่ไม่สูงมาก สูงเพียง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำใกล้พื้นดิน ผิวลำต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบสีเขียวออกเรียงสลับแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 7-8 ใบ ลักษณะรูปยาวรี กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 5-8 ซม. โคนใบแหลมมีหูใบซึ่งจะติดอยู่กับก้านใบพอดี ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบและแผ่นใบเรียบ แผ่นใบเป็นมัน ก้านใบย่อยยาว 8 – 25 มม. ดอกมีสีขาวนวลออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 3 – 5 นิ้ว ลักษณะของดอกย่อย เป็นดอกสีเขียว มีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3 – 7 มม. ผลมีลักษณะรูปทรงกลมคล้ายรูปไข่ มีเนื้อ อวบน้ำ ขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 5 – 6 มม. กว้างประมาณ 4 – 5 มม. ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเหมือนสีเหล้าองุ่น
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ยอดอ่อน และ ทั้งต้น
สรรพคุณทางยา :
- รากรักษาแผลสด
- ใบ รักษาโรคมะเร็ง ขับเสมหะ รักษาวัณโรค แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด ห้ามเลือด สมานแผล แก้อักเสบบวม แก้คออักเสบ แก้โรคปอด
- ยอดอ่อน รักษาโรคหอบหืด โรคแพ้อากาศ รักษาโรคหลอดลมอักเสบแก้ช้ำใน แก้เส้นเลือดฝอยในสมองแตก กระจายเลือดลมที่จับกันเป็นก้อนหรือคั่งภายใน
- ทั้งต้น รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้
วิธีการใช้ :
- รักษาแผลสด นำยางมาใช้ใส่แผลสด ทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น
- รักษาโรคหอบหืด โรคแพ้อากาศ รักษาโรคหลอดลมอักเสบแก้ช้ำใน แก้เส้นเลือดฝอยแตกในสมอง กระจายเลือดลม นำยอดอ่อนประมาณ 5-10 ช่อ ต้มกับน้ำ 2 แก้วให้เหลือ 1 แก้ว ดื่มเช้าเย็นก่อนอาหาร
- รักษาวัณโรค แก้โรคปอด นำใบสดเล็กๆ 9 ใบ ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น เป็นเวลา 60 วัน แล้ว x-ray ตรวจสอบอีกครั้ง หากพบว่าปอดมีอาการดีขึ้นแล้วให้รับประทานต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง
- ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้คออักเสบ นำใบสดประมาณ 10 ช่อมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้าขาว ดื่มรับประทาน
- แก้อาเจียนเป็นเลือด นำใบสด 12 ใบย่อย ตำคั้นน้ำ 2 ถ้วยตะไล รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ติดต่อกัน 5-7 วัน
- ห้ามเลือด สมานแผลแก้อักเสบบวม นำใบสดมาตำพอกแผลสด
- รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ นำทั้งต้นมาต้ม ดื่มรับประทานทำให้เลือดลมเดินสะดวก
ถิ่นกำเนิด :
หนุมานประสานกายเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.