ชื่อสมุนไพร : ส้มแขก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ส้มควาย, ส้มมะวน, ชะมวงช้าง, ส้มพะงุน, ส้มมะอ้น และ อาแซกะลูโก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia atroviridis
ชื่อสามัญ : Garcinia, Malabar tamarind, Garcinia Cambogia, Gambooge, Brindle berry, Assam fruit
วงศ์ : CLUSIACEAE
ส้มแขกเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดกลาง ลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็งที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ มังคุด และ ชะมวง ถือว่าเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย คนส่วนใหญ่นิยมนำมาประกอบอาหาร และเพิ่มรสเปรี้ยวให้กับอาหาร โดยนำมาปรุงรสแทนผลของมะนาวหรือมะขาม ลักษณะของผลส้มแขก จะคล้ายฟักทองขนาดเล็ก พบมากทางภาคใต้ ผลจากการค้นคว้า พบว่า ผลส้มแขก มีสาร HCA หรือ Hydroxy-citric acid อยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีคุณสมบัติในการยับยั้งการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกาย เปลี่ยนไขมันที่สะสม ไว้ให้เป็นพลังงาน และลดความอยากอาหาร ในปัจจุบันจึงเป็นที่นิยมสำหรับควบคุมน้ำหนัก โดยการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เครื่องดื่มส้มแขกผงสำเร็จรูป เครื่องดื่มส้มแขกชนิดชง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส้มแขก ยาระบายส้มแขก เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความอ้วนหรือต้องการลดการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกาย โดยสมุนไพรชนิดนี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจและน่าลงทุน
ลักษณะสมุนไพร :
ส้มแขกเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดกลาง ลำต้นของส้มแขกมีขนาดความสูงปานกลางอยู่ราวๆ 5 – 7 เมตร ต้นอ่อนจะมีเปลือกสีเขียว หลังจากกลายเป็นต้นแก่จะมีเปลือกสีน้ำตาลอมดำคล้ายกับต้นชะมวง เมื่อใดที่ลำต้นเป็นแผลจะมียางสีเหลืองไหลออกมาจากลำต้น เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ลักษณะใบของส้มแขกเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ แผ่นใบเรียงกัน ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบแคบค่อนข้างยาว ขอบใบเรียบ และปลายใบแหลมมากมองเห็นได้ชัด ขนาดความยาวประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร และขนาดความกว้างประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร ขนาดก้านใบค่อนข้างยาว ประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ใบแห้งจะกลายเป็นสีน้ำตาล ดอกส้มแขกจะออกบริเวณปลายยอด ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบ ด้านนอกมีสีเขียว และด้านในสีแดง ก้านดอก ขนาดความยาว 0.5 – 1.7 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้เรียงกันเป็นวงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว แทงออกมาจากปลายกิ่ง โดยมีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่เป็นรูปทรงกระบอก ผลส้มแขกเป็นผลเดี่ยว ขนาดกว้าง 6 – 7 เซนติเมตร และ ขนาดยาว 4 – 5 เซนติเมตร ผลที่แก่แล้วมีสีเขียว ผลที่สุกมีสีเหลือง ขั้วผลมีความยาว 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้นๆละ 4 กลีบ ทั้ง 2 ชั้นเรียงสลับกัน มีเมล็ดประมาณ 11 – 12 เมล็ด เป็นเมล็ดสมบูรณ์ 2 – 3 เมล็ดต่อผล ภายในเมล็ดมีใบเลี้ยงอวบหนา เนื่องจากมีอาหารสะสมอยู่มาก มีรกอยู่ตรงกลาง เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ดอก และ ผล
สรรพคุณทางยา :
- ราก ช่วยแก้กระษัย ใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว
- ใบช่วยแก้อาการท้องผูก
- ดอก ช่วยแก้อาการไอ เป็นยาขับเสมหะลดความดันรักษาโรคเบาหวาน
- ผล ช่วยฟอกโลหิต บรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์ เป็นยาระบายอ่อนๆ มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยลดความอยากอาหาร ความรู้สึกหิวอาหาร ช่วยเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร ช่วยดักจับแป้ง และไขมันจากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้น และขับไขมันออกมา จึงช่วยลดน้ำหนัก และช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้ ทั้งยังช่วยสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรต จำพวกแป้ง และน้ำตาลไม่ให้เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกาย แต่เปลี่ยนเป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย
วิธีการใช้ :
- แก้กระษัย ใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว นำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำ โดยรับประทานน้ำต้มราก
- แก้อาการท้องผูก รับประทานใบสดๆ
- แก้อาการไอ เป็นยาขับเสมหะ ลดความดัน รักษาโรคเบาหวาน ดอกตัวผู้แห้งต้มกับน้ำ อัตราส่วน 7ดอก ต่อ น้ำ 1 ลิตร และเติมน้ำครั้งที่สอง ใส่ดอก 3 ดอกต่อน้ำ 1 ลิตร โดยไม่ต้องทิ้งดอกที่ต้มในครั้งแรก แล้วนำมาดื่ม
- ลดความอยากอาหาร เร่งระบบการเผาผลาญอาหาร ช่วยดักจับแป้ง และไขมัน ลดน้ำหนัก และช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกาย ช่วยฟอกโลหิต บรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์ เป็นยาระบายอ่อนๆ มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ นำผลไปล้างน้ำให้สะอาด นำมาใส่ลงไปในหม้อต้มกับน้ำดื่ม รับประทานเป็นน้ำต้ม หรือนำมาประกอบอาหารโดยฝานให้เป็นแว่นบางๆ ใส่ในอาหาร เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ และต้มปลา หรือ นำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล
ถิ่นกำเนิด :
ส้มแขกนั้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย
.