ชื่อสมุนไพร : ส้มป่อย
ชื่อเรียกอื่นๆ : ส้มพอดี (ภาคอีสาน), ส้มคอน (ไทใหญ่), ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิจือสะ, พิฉี่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ผ่อชิละ, ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แผละป่อย, เมี่ยงโกร๊ะ, ไม้ส้มป่อย (ลั้วะ)และ เบล่หม่าฮั้น (ปะหล่อง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia concinna (Willd.) D.C.
ชื่อสามัญ : Soap Pod
วงศ์ : LEGUMINOSAE – MIMOSOIDEAE
ส้มป่อยเป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มักพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา และที่รกร้างทั่วไป โดยยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ แจ่ว หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ทำแกงส้ม ต้มส้มไก่ ต้มข่าไก่ ต้มส้มป่อย เป็นต้น ถือเป็นผักที่มีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ผลจากการทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของยอดส้มป่อยพบว่ามีสูงมาก และยังมีสารซาโปนินในฝักส้มป่อยที่ทำให้ทีเซลล์ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นด้วย อีกทั้งฝักแก่แห้งนำมาต้มเอาน้ำใช้สระผมเพื่อแก้รังแค แก้อาการคันศีรษะ บำรุงเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางาม เป็นยาปลูกผม และป้องกันผมหงอกก่อนวัย หากสระผมด้วยส้มป่อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยทำให้อาการคันบนหนังศีรษะและรังแคหายไปได้
ลักษณะสมุนไพร :
ส้มป่อยเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูงประมาณ 3-6 เมตร แต่ไม่มีมือสำหรับเกาะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถามีเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นอยู่ทั่วไปและมีขนหูใบรูปหัวใจ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ โคนใบมนหรือตัด ส่วนขอบใบหนาเรียบ แผ่นใบเรียบ มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น ดอกออกเป็นช่อกระจุกรูปทรงกลม โดยจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกประมาณ 35-45 ดอก มีขนนุ่มหนาแน่น กลีบดอกเป็นหลอดสีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ มีขนบ้างเล็กน้อยที่ปลายกลีบ ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน แบนยาว ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวฝักขรุขระหรือย่นมากเมื่อแห้ง ฝักอ่อนเปลือกเป็นสีเขียวอมแดง เมื่อแก่แล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ฝักจะมีเมล็ดประมาณ 5-12 เมล็ด เมล็ดส้มป่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนรี สีดำผิวมัน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ต้น, ดอก, ผล, ฝัก และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้ไข้
- ใบ แก้โรคตา ชำระเมือกมันในลำไส้ ยาถ่ายเสมหะ แก้บิด ฟอกล้างโลหิตระดู
- ต้น แก้ตาพิการ
- ดอก แก้เส้นพิการ
- ผล แก้น้ำลายเหนียว
- ฝัก แก้ไอ ขับเสมหะ เป็นยาถ่ายทำให้อาเจียน ฟอกผมแก้รังแค แก้ไข้จับสั่น ปิดแผลโรคผิวหนัง แก้รังแค แก้อาการคันศีรษะ บำรุงเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางาม เป็นยาปลูกผม และป้องกันผมหงอกก่อนวัยเมล็ด คันจมูกและจามดี
วิธีการใช้ :
- แก้ไข้ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้โรคตา ชำระเมือกมันในลำไส้ ยาถ่ายเสมหะ แก้บิด ฟอกล้างโลหิตระดู นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ตาพิการ นำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้เส้นพิการ นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้น้ำลายเหนียว นำผลแห้งนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ไอ ขับเสมหะ เป็นยาถ่ายทำให้อาเจียน ฟอกผมแก้รังแค แก้ไข้จับสั่น ปิดแผลโรคผิวหนัง นำฝักปิ้งให้เหลือง ชงกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือนำฝักแก่มาต้มกับน้ำแล้วนำมาสระผม
- คันจมูกและจามดี นำเมล็ดมาคั่วให้เกรียมบดให้ละเอียด นัตถุ์ทำให้คันจมูกและจามดี
ถิ่นกำเนิด :
ส้มป่อยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้
.