ชื่อสมุนไพร : สีเสียด
ชื่อเรียกอื่นๆ : สะเจ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ขี้เสียด (ภาคเหนือ), สีเสียดแก่น (ราชบุรี), สีเสียดเหนือ (ภาคกล่าง) และ สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia catechu (L.f.) Willd.
ชื่อสามัญ : Cutch Tree, Catechu Tree และBlack Catechu
วงศ์ : LEGUMINOSAE (FABACEAE)-MIMOSOIDEAE
สีเสียดเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในประเทศอินเดียและพม่า จัดเป็นพืชที่สามารถเจริญได้ดีในสภาพดินทุกประเภท ไม่ชอบที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี สามารถพบได้ทั่วไปในป่าโปร่งทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยและมีการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด โดยเมล็ดถือเป็นแหล่งของโปรตีน แก่นต้นนั้นสามารถนำมาใช้เป็นยาโดยนำแก่นต้นสีเสียดสับให้เป็นชิ้นๆ แล้วต้มและเคี่ยว หลังจากนั้นระเหยน้ำที่ต้มได้ให้เหนียวข้นจะได้ของแข็งเป็นก้อนสีน้ำตาลดำ เมื่อเย็นตัวลงจะแข็งสามารถทำเป็นก้อนได้ สารสำคัญกลุ่มหลักๆ ในสีเสียดที่เป็นองค์ประกอบทางเคมีนั่นก็คือ สารกลุ่มแทนนิน (Tannin) ที่ทำให้พืชสมุนไพรชนิดนี้มีรสฝาดนอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavoniods)และสารกลุ่มอื่นๆ เช่นCatechu Red และ Caffeine ดังนั้นจึงมีสรรพคุณในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ และ Hepatoprotective Activity ได้อีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
สีเสียดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีความสูงประมาณ 10 – 15 เมตร เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ และผิวลำต้นค่อนข้างขรุขระ เปลือกลำต้นด้านในหรือแก่นมีสีน้ำตาลแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็กๆโค้งออกในลักษณะเป็นคู่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นจัดเรียงสลับกันโดยมีใบย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ปลายใบมน หลังใบและท้องใบค่อนข้างเรียบ ดอกออกเป็นช่อคล้ายหางกระรอกบริเวณยอดหรือปลายกิ่ง ยาว 5 – 10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีวงกลีบเลี้ยงรูประฆัง ขนาดยาว 1.0 – 1.5 มม. และกลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน 1 กลีบ ยาว 2.5 – 3.0 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีเป็นจำนวนมากยื่นยาวออกเหนือกลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเหลืองผลเป็นฝักแบนยาวประมาณ 5 -10 เซนติเมตร ผิวฝักเรียบ โคนกลีบปลายบานออกและค่อนข้างโค้ง เมื่อแก่มีผิวสีน้ำตาลเป็นมันแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดรูปไข่กว้าง 3 – 10 เมล็ดต่อฝักเมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด หนักประมาณ 65 กรัม
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกต้น และ เมล็ดในฝัก
สรรพคุณทางยา :
- เปลือกต้น แก้บิด แก้ท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ คุมธาตุ แก้บิดมูกเลือด แก้ลงแดง รักษาบาดแผล แก้ปากเป็นแผล ใส่แผลเปื่อยและริดสีดวง และอาการบาดเจ็บที่มีเลือดออก ห้ามเลือดที่ออกจากจมูก แก้บิด ล้างแผลหัวนมแตก ล้างแผลถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว รักษาโรคมะเร็ง
- เมล็ดในฝัก ฝนแก้โรคหิด แผลน้ำกัดเท้า
วิธีการใช้ :
- แก้บิด แก้ท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ คุมธาตุ แก้บิดมูกเลือด แก้ลงแดง รักษาโรคมะเร็ง นำแก่นสีเสียดต้มเอาน้ำดื่มรับประทาน
- รักษาบาดแผล แก้ปากเป็นแผล ใส่แผลเปื่อยและริดสีดวง และอาการบาดเจ็บที่มีเลือดออก ห้ามเลือดที่ออกจากจมูก แก้บิด ล้างแผลหัวนมแตก ล้างแผลถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ล้างแผลหรือรักษาแผล
- แก้โรคหิด แผลน้ำกัดเท้า นำเมล็ดในฝักมาฝนทาแก้โรคหิด แผลน้ำกัดเท้า
ถิ่นกำเนิด :
สีเสียดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียแถบประเทศจีน, อินเดีย, พม่า และบริเวณมหาสมุทรอินเดีย
.