ชื่อสมุนไพร : สมอพิเภก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ลัน (เชียงราย), สะคู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แหน แหนต้น แหนขาว (ภาคเหนือ) และ สมอแหน (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.
ชื่อสามัญ : Beleric Myrobalan, Ink Not, Bahera และ Beleric
วงศ์ : COMBRETACEAE
สมอพิเภกเป็นไม้ยืนต้นขนาดค่อนข้างใหญ่ ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ปักชำและตอนกิ่ง มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคได้หลากหลายทั้งการแก้ไข้ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคตา แก้ริดสีดวง แก้ลม แก้บิด และสรรพคุณอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีการสกัดสารจากผลของสมอพิเภกออกมา และพบว่ามีฤทธิ์ในการต้านการก่อกลายพันธุ์ได้ ทั้งนี้ สารสกัดจากสมอพิเภกรวมกับสมอไทยและมะขามป้อม สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ในด้านของประโยชน์อื่นๆ พบว่า เนื้อไม้ของสมอพิเภกเหมาะสำหรับนำมาใช้ผลิตเป็นกล่องหรือลัง ส่วนเปลือกต้นก็ใช้ในย้อมผ้าได้
ลักษณะสมุนไพร :
สมอพิเภกเป็นไม้ยืนต้นขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-35 เมตร จัดเป็นไม้ผลัดใบชนิดหนึ่ง ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดกลมแผ่กว้าง มีลำต้นเปราตรง เปลือกของลำต้นค่อนข้างเรียบ บ้างก็แตกเป็นร่องเล็กๆไปตามยาวของลำต้น เปลือกด้านนอกมีสีเทาอมน้ำตาล ส่วนเปลือกด้านในมีสีเหลือง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนอยู่ประปราย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นทรงรีแกมรูปไข่หัวกลับ โคนใบสอบ ปลายใบผายกว้าง ปลายสุดของใบมีลักษณะเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ขนาดใบกว้างประมาณ 9-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร ก้านใบมีความประมาณ 4-6 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมีเส้นแขนงใบประมาณ 6-10 คู่ หลังใบมีสีเขียวเข้มและมีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป ท้องใบมีสีเทาจางๆและมีขนนุ่มๆปกคลุมอยู่ เมื่อใบแก่จัดขนจะหลุดร่วงออกไป ดอกออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบ ลักษณะคล้ายหางกระรอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายช่อดอกจะห้อยย้อยลง ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวอมเหลือง กลีบฐานดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็กๆ และมีขนอยู่ทั่วไป ภายในดอกมีเกสรตัวผู้เรียงซ้อนกันเป็นสองแถวรวม 10 อัน ส่วนรังไข่มี อัน ลักษณะค่อนข้างแป้น ผลของสมอพิเภกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ออกรวมกลุ่มเป็นพวงโต ขนาดผลกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ลักษณะผลเป็นสัน 5 สัน มีขนสีน้ำตาลสั้นๆปกคลุมที่บริเวณผิวภายนอก ภายในผลมีเมล็ดอยู่ภายใน เมล็ดเป็นเมล็ดเดี่ยว แข็ง ผลอ่อนมีรสเปรี้ยว ส่วนผลแก่มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน สมอพิเภกสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ด ปักชำและตอนกิ่ง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล, เมล็ด, ใบ, ดอก, เปลือก และ แก่น
สรรพคุณทางยา :
- ผลอ่อน แก้ไข้ แก้ลม ใช้เป็นยาระบายหรือยาถ่าย รักษาโรคตา
- ผลแก่ แก้โรคภายในตา บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วงหรือท้องเดิน รักษาโรคเรื้อน แก้ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง บำรุงธาตุ และแก้ธาตุกำเริบ
- เมล็ดใน แก้บิดหรือบิดมูกเลือด
- ใบ รักษาบาดแผล แผลติดเชื้อ
- ดอก แก้โรคในตา
- เปลือก ขับปัสสาวะ รักษาปัสสาวะพิการ
- แก่น แก้ริดสีดวง
วิธีการใช้ :
- ขับปัสสาวะ นำเปลือกต้นมาต้มน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาระบายหรือยาถ่าย นำผลโตแต่ยังไม่แก่เต็มที่ประมาณ 2-3 ผล ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย ดื่มรับประทาน
- ยาแก้ท้องร่วงหรือท้องเดิน นำผลแก่ประมาณ 2-3 ผล ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย เคี่ยวให้งวดจนเหลือครึ่งเดียว ใช้ดื่มรับประทาน
- รักษาบาดแผล นำใบสดมาตำให้ละเอียด แล้วพอกที่บาดแผล
- แก้มะเร็ง สารสกัดจากสมุนไพรสมอพิเภกรวมกับสมอไทยและมะขามป้อม สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งได้
ถิ่นกำเนิด :
สมอพิเภกมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.