ชื่อสมุนไพร : ลิ้นกวาง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ลิ้นควาย (ลำปาง), หางกวาง (นครพนม), ค้อนหมาแดง (นครราชสีมา), หูกลวง (ปราจีนบุรี, ตราด), โคนมะเด็น (สุพรรณบุรี), คันทรง, ทองคันทรง (ชลบุรี), ค้อนตีหมา (ยะลา), พันทรง (นราธิวาส), ค้อนหมาขาว (ภาคกลาง), ยูลง, ลิดาซาปี (มลายู-ภาคใต้), กระม้า (เขมร-สระบุรี), ขุนม้า, ขุนมา (เขมร-สุรินทร์), ซินตะโกพลี (กะเหรี่ยง-ลำปาง), กะม้า และ ขุนนา (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ancistrocladus tectorius (Lour.) Merr.
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : ANCISTROCLADACEAE
ลิ้นกวางเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ขึ้นได้ในที่ราบสูงทั่วไป ชอบดินค่อนข้างชื้นและดินอุดมสมบูรณ์พอเหมาะ อุ้มน้ำได้ดี ชอบแสงแดดรำไร พบขึ้นทั่วไปตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ประโยชน์ของลิ้นกวางใช้ทำเครื่องจักสานและเครื่องใช้สอยได้ดี ส่วนใบอ่อนหรือยอดอ่อนสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกรวมกับผักอื่นๆ โดยจะมีรสฝาดมัน
ลักษณะสมุนไพร :
ลิ้นกวางเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ลำต้นขึ้นใหม่เป็นพุ่ม มักเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่น สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 15-20 เมตร ส่วนกิ่งก้านเล็กๆ มีตะเป็นมือ มีลักษณะเป็นข้อแข็งๆ สำหรับเป็นที่ยึดเกาะพันไม้อื่น เถาแก่เป็นสีน้ำตาล เถาแตกเป็นรอยตื้นตามยาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง เรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกลับ รูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลมและค่อยๆ สอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-19 เซนติเมตร แผ่นใบแข็งกระด้าง มีเส้นใบเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ ยอดอ่อนเป็นสีแดงหรือสีเขียวอมขาวอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด แต่ละดอกจะมีขนาดเล็ก ฐานดอกเป็นสีเขียว ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวอมแดงถึงสีแดงคล้ำ ส่วนโคนเป็นท่อสั้นๆ แยกออกเป็น 5 กลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ผลมีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร และมีปีกอยู่ 5 ปีก ซึ่งจะมีความยาวไม่เท่ากันรองรับ แบ่งเป็นอีกเล็ก 2 ปีก และปีกใหญ่ 3 ปีก เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล ออกผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ทั้งต้น, ราก, เถา และ ใบอ่อน
สรรพคุณทางยา :
- ทั้งต้น ยาแก้โรคกระษัย ไตพิการ และไข้ป่า
- ราก ยารักษาโรคไข้จับสั่น ยารักษาโรคบิด ยาแก้ปวดเมื่อย
- เถา ยาขับพยาธิ
- ใบอ่อน ยาขับพยาธิ ยารักษาอาการบวมตามตัวและเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง
วิธีการใช้ :
- ยาแก้โรคกระษัย ไตพิการ และไข้ป่า นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยารักษาโรคไข้จับสั่น ยารักษาโรคบิด นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาแก้ปวดเมื่อย นำรากลิ้นกวางใช้ผสมกับรากช้างน้าว นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย
- ยาขับพยาธิ นำเถาและใบอ่อนนำมาต้มเคี่ยวให้น้ำเข้มข้น ใช้กินก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้วเป็นยาขับพยาธิ
- ยารักษาอาการบวมตามตัวและเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง นำใบอ่อนนำมาต้มเอาน้ำอาบเป็นยารักษาอาการบวมตามตัวและเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง
ถิ่นกำเนิด :
ลิ้นกวางเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.