ลำพูป่า

ชื่อสมุนไพร : ลำพูป่า
ชื่อเรียกอื่นๆ : กาลา,  คอเหนียง (เชียงใหม่), สะบันงาช้าง (แพร่), กระดังงาป่า (กาญจนบุรี), ตะกูกา (จันทบุรี), ลิ้นควาย (ปราจีนบุรี), หงอกไก่ (ประจวบคีรีขันธ์), ขาเขียด (ชุมพร), ลำพูขี้แมว (ระนอง), ลำแพน (ตรัง), ลำแพนเขา (ยะลา), ลำพูควน (ปัตตานี), ลูกลางอ้า (ภาคเหนือ), ตะกาย,  โปรง (ภาคใต้), บ่อแมะ (มลายู-ยะลา), บะกูแม (มลายู-นราธิวาส), กู (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ซิกุ๊ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), โก (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ซ่อกวาเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กาปลอง (ชอง-จันทบุรี), เตื้อเร่อะ (ขมุ), ไม้เต๋น (ไทลื้อ), ลำคุบ,  ไม้เต้น (ลั้วะ) และ ซือลาง (ม้ง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duabanga grandiflora (Roxb. ex DC.) Walp.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : SONNERATIACEAE
LPP2
ลำพูป่าเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดพบขึ้นตามป่าริมน้ำ ริมลำธาร หรือลำห้วยทั่วไปทางภาคเหนือและภาคใต้ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขาต่ำ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 300-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล เนื้อไม้ลำพูป่าเป็นสีเทา มักมีเส้นผ่านสีเหลืองหรือน้ำตาล เสี้ยนตรงหรือสั้น เนื้อไม้หยาบ เลื่อยผ่าไสกบง่าย มีความแข็งแรงปานกลาง ผึ่งง่าย ทนทานปานกลางในที่ร่มและเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำ ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ทำฝา พื้นบ้าน ทำเรือ ไม้พายเรือ ทำลังใส่ของ หีบศพ ทำไส้ไม้อัด กล่องไม้ขีด ก้านร่ม ทำแบบหล่อคอนกรีต ใช้เป็นส่วนประกอบของร่มกระดาษ ต้นลำพูป่าเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง นิยมใช้ปลูกเป็นไม้บุกเบิก เหมาะสำหรับใช้ปลูกเพื่อการฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร

 LPP3

ลักษณะสมุนไพร :
ลำพูป่าเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-35 เมตร โตวัดรอบลำต้นได้ประมาณ 100-200 เซนติเมตร เรือนยอดแผ่กว้าง รูปทรงกลมหรือทรงกระบอก กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกเป็นสีเทาเป็นสะเก็ดหรือตกเป็นแผ่นไม่เป็นระเบียบ เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ำ ส่วนกระพี้เป็นสีน้ำตาลปนเหลือง ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม สีเหลือง เกลี้ยง บิดไปมาระหว่างคู่ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานถึงรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปติ่งหู ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่น โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ประมาณ 15-30 ดอก ลักษณะห้อยลง ดอกลำพูป่าจะบานในช่วงเวลากลางคืนถึงช่วงเช้า หุบในช่วงกลางวัน เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวขนาดใหญ่ ประมาณ 10 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปถ้วย ส่วนกลีบดอกมี 6-7 กลีบ ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมทรงกลม รูปไข่กว้าง รูปกลมแป้น หรือมีลักษณะแป้นเป็นรูปตลับ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ และแตกอ้าออกตรงกลางพูเป็นเสี่ยงๆ ที่ฐานมีชั้นกลีบเลี้ยงรูปดาวรองรับ กลีบเลี้ยงติดคงทน ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ประมาณ 6-7 เมล็ด

 LPP4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เมล็ด, เปลือกต้น, กิ่ง และ ลำต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. เมล็ด ยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ
  2. เปลือกต้น ยาแก้อาการปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ
  3. กิ่ง ยาแก้อาการช้ำใน
  4. ลำต้น ยาแก้อาการช้ำใน ยาแก้อุจจาระติดโลหิตสดๆ โลหิตช้ำ แก้เมื่อยเข็ดตามข้อกระดูก

 LPP5

วิธีการใช้ :                                     

  1. ยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ  นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. ยาแก้อาการปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  3. ยาแก้อาการช้ำใน นำกิ่งมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  4. ยาแก้อาการช้ำใน ยาแก้อุจจาระติดโลหิตสดๆ โลหิตช้ำ แก้เมื่อยเข็ดตามข้อกระดูก นำลำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

 LPP6

ถิ่นกำเนิด :
ลำพูป่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy