ชื่อสมุนไพร : ละหุ่ง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ละหุ่งแดง, ละหุ่งขาว, มะละหุ่ง (ภาคกลาง), มะโห่ง, มะโห่งหิน (ภาคเหนือ) และ ปี่มั้ว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ricinus communis L.
ชื่อสามัญ : Castor, Castor Bean และ Castor Oil Plant
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ละหุ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ในปัจจุบันประเทศบราซิล อินเดีย และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยแบ่งออก 2 ชนิด ได้แก่ละหุ่งขาว และละหุ่งแดง โดยต้นละหุ่งขาวจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีเขียว ส่วนละหุ่งแดงจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีแดง ส่วนยอดอ่อนและช่อดอกเป็นสีนวลขาว โดยมีประโยชน์มากมาย ได้แก่ ลำต้นของละหุ่งสามารถนำมาใช้ในการทำเยื่อกระดาษ กากของเมล็ดละหุ่งสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ เพราะอุดมไปด้วยธาตุ N,P,K แต่ไม่เหมาะแก่การนำมาเลี้ยงสัตว์ น้ำมันเมล็ดละหุ่ง มีกรดไขมัน Ricinoleic มีคุณสมบัติเฉพาะตัวสูง ไม่สามารถนำมาใช้แทนน้ำมันพืชชนิดอื่นได้ โดยจะนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเรซิ่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเบรกรถยนต์ จาระบี น้ำมันชักเงา น้ำยารักษาหนัง น้ำมันผสมสี หมึกพิมพ์ ใช้ทำสีทาบ้าน สีโป๊รถ ขี้ผึ้งเทียม พลาสติก เส้นใยเทียม หนังเทียม ฉนวนไฟฟ้า สกี ล้อเครื่องบิน และยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ส่วนน้ำมันละหุ่งที่ผ่านกรรมวิธีทำให้บริสุทธิ์แล้วสามารถนำมาผลิตใช้เป็นยารักษาโรค ยาระบาย เครื่องสำอางชนิดต่างๆ สบู่ ลิปสติก
ลักษณะสมุนไพร :
ละหุ่งเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นได้ถึง 6 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปฝ่ามือ มีแฉกประมาณ 6-11 แฉก ปลายแฉกแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย โคนใบเป็นแบบก้นปิด มีเส้นแขนงของใบเรียงจรดปลายจักที่มีขนาดใหญ่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีต่อที่ปลายก้าน หูใบเชื่อมติดกันลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีความยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ติดตรงข้ามกัน โอบรอบกิ่ง และร่วงได้ง่าย ดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ก้านเกสรมี 3 อัน มีความยาวเท่าๆ กลีบเลี้ยงบางแยกเป็น 3-5 แฉก ติดทนและไม่มีกลีบดอก ก้านดอกยาว ไม่มีจานฐานดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายเป็น 5 หยัก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ผลเป็นทรงรี ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลมีพู 3 พู รูปไข่ ผลสีเขียว ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวของผลมีขนคล้ายหนามอ่อนๆ ทั้งผลคล้ายผลเงาะ ในผลมีเมล็ดเป็นทรงรี เมล็ดเป็นรูปทรงรี เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลแดงประขาวหรือเป็นจุดสีน้ำตาลปนเทา เนื้อในเมล็ดมีสีขาว
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ, ราก และ น้ำมันจากเมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ใบ ขับน้ำนม แก้เลือดพิการ แก้เลือดลมพิการ แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยขับระดูของสตรี แก้ริดสีดวงทวาร รักษาแผลเรื้อรัง รักษาฝี แก้อาการปวดบวม หรือปวดตามข้อ
- ราก แก้พิษไข้เซื่องซึม และเป็นยาสมาน แก้อาการปวดฟัน
- น้ำมันจากเมล็ด เป็นยาพอกแผล แก้กระดูกหัก กระดูกแตก แก้อาการปวดข้อปวดหลัง
วิธีการใช้ :
- ขับน้ำนม แก้เลือดพิการ แก้เลือดลมพิการ แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยขับระดูของสตรี แก้ริดสีดวงทวาร รักษาแผลเรื้อรัง รักษาฝี แก้อาการปวดบวม หรือปวดตามข้อ นำใบแก่มาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้พิษไข้เซื่องซึม และเป็นยาสมาน แก้อาการปวดฟัน นำรากมาต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
- พอกแผล แก้กระดูกหัก กระดูกแตก แก้อาการปวดข้อปวดหลัง นำเมล็ดมาสกัดน้ำมัน แล้วทาบริเวณแผล
ถิ่นกำเนิด :
ละหุ่งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก
.